นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานการประชุมเพื่อหารือแนวทางการเบิกจ่ายกรณีผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรณียกเลิก UCEP โควิด-19 โดยมี นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา
นพ.การุณย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนในการร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติสถานการณ์นี้มาได้ด้วยดี แต่ด้วยเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แม้ว่าจะไม่รุนแรงและเตรียมปรับเป็นโรคประจำถิ่น แต่ก็ทำให้ขณะนี้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับที่ผ่านมาได้มีการยกเลิกบริการ UCEP โควิด-19 และปรับเปลี่ยนสู่บริการ UCEP Plus
ทั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 65 ที่ได้แยกผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยที่เป็นสีเขียวออกจากสิทธิประโยชน์ UCEP Plus โดยให้คงไว้แต่ผู้ป่วยสีเหลืองและแดง จึงนำมาสู่การประชุมเพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการโควิด-19 ใหม่ให้เกิดชัดเจน เพื่อให้สถานพยาบาลเอกชนที่ไม่ใช่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมดูแลผู้ป่วยโควิดให้เข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
สำหรับการให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและแดง เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งการประเมินผู้ป่วยจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) โดยการเบิกจ่ายตามสิทธิประโยชน์ UCEP Plus กำหนดให้เฉพาะสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยค้างคืนเท่านั้น และเป็นการเบิกจ่ายตามรายการที่กำหนด (Fee Schedule) โดยสถานพยาบาลต้องดำเนินการตามระบบ Pre-Authorize ของ สพฉ. และยืนยันตัวตนการใช้สิทธิ Authentication Code ของ สปสช.
2. กลุ่มผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ค่าบริการให้เบิกจ่ายจากกองทุนรักษาพยาบาลของผู้ป่วยที่มีสิทธิอยู่ตามเงื่อนไขตามสิทธิประโยชน์ของกองทุนนั้น โดยในส่วนของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาทหรือสิทธิ สปสช.) โดยสถานพยาบาลสามารถให้การดูแลทั้งบริการผู้ป่วยนอกแยกกักตัวที่บ้าน (เจอ แจก จบ) ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข และบริการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและในชุมชน (Home Isolation: HI/Community Isolation: CI) และบริการ Hospitel
-บริการผู้ป่วยนอกแยกกักตัวที่บ้าน (เจอ แจก จบ) สถานพยาบาลสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาเบื้องต้นแบบเหมาจ่าย 1,000 บาท/ราย ครอบคลุมบริการให้คำแนะนำแยกกักตัวที่บ้าน ยารักษาโรคโควิด-19 ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร ยาฟาวิพิราเวียร์ (เบิกจาก สธ.) และยารักษาตามอาการ เป็นต้น และการติดตามอาการผู้ป่วยหลังครบ 48 ชั่วโมง รวมถึงการส่งต่อหากผู้ป่วยมีอาการแย่ลง และค่าบริการให้คำปรึกษาแบบเหมาจ่าย 300 บาท สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีการโทรศัพท์กลับมาภายหลัง 48 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะมาจากอาการไม่ดีขึ้น หรือจำเป็นต้องส่งต่อ
-บริการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและในชุมชน (HI/CI) และบริการ Hospitel เป็นการเบิกจ่ายค่าบริการเหมาจ่าย โดยครอบคลุมค่าบริการดูแลผู้ป่วย ทั้งค่าอาหาร 3 มื้อ การประเมินและติดตามอาการ การให้คำปรึกษา นอกจากนี้ยังมีค่าอุปกรณ์ในการดูแลและติดตามสัญญาณชีพ ค่ายาที่เป็นการรักษาโรคโควิด-19 และค่า Chest X-ray กรณีที่มีความจำเป็น โดยกรณีให้บริการรักษาและติดตาม 1-6 วัน เป็นจำนวน 6,000 บาท และกรณีให้บริการรักษาและติดตาม 7 วันขึ้นไป เป็นจำนวน 12,000 บาท
ส่วนค่าบริการตรวจหาเชื้อทั้งแบบ Antigen Test Kit (ATK) และ RT-PCR ของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิ เพื่อตรวจคัดกรองและเข้าสู่การรักษานั้น ยังคงเบิกจ่ายจาก สปสช. ตามหลักเกณฑ์บริการก่อนหน้านี้ ซึ่งรัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนบริการนี้ให้กับคนไทยทุกคนทุกสิทธิรักษาพยาบาล
"หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าบริการโควิด-19 ใหม่นี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งทุกสถานพยาบาลจะต้องใช้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ในการดูแลผู้ป่วยและเบิกจ่ายค่าบริการ พร้อมกันนี้ ขอให้สถานพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำข้อตกลงร่วมให้บริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อที่ สปสช.จะได้ส่งผู้ป่วยเข้ารับบริการ และให้การเบิกจ่ายค่าบริการเป็นไปอย่างถูกต้อง" นพ.การุณย์ กล่าว
ทั้งนี้ จากการประชุมชี้แจงเมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลเอกชน 85 แห่ง แจ้งความประสงค์ร่วมทำข้อตกลงให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียว