นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2565 โดยมีผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้มีการหารือในประเด็นต่างๆ เกี่ยวข้องกับการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร อาทิ กำหนดการจัดงานฯ ร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดงานฯ ร่างแผนผังการใช้พื้นที่จัดงาน มาตรการด้านการสาธารณสุข รูปแบบและรายละเอียดการจัดงานฯ การขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย และการมอบหมายภารกิจแก่หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร
โดยกรุงเทพมหานคร กำหนดจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 12-14 เม.ย. 65 ณ ลานสแควร์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ เพื่อเป็นการบำรุงรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ส่งเสริมด้านวัฒนธรรม การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในวันสำคัญทางประเพณีให้คงอยู่สืบไป ตลอดจนเพื่อเป็นการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยจะมีการแถลงข่าวการจัดงานฯ ในวันที่ 7 เม.ย. 65 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
สำหรับรูปแบบการจัดงานฯ จะจัดขึ้นภายใต้รูปแบบการจัดงานวิถีใหม่ (New Normal) และกำหนดแนวทางปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ได้แก่ การกั้นพื้นที่โดยรอบบริเวณการจัดงาน เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณผู้เข้าร่วมงาน โดยกำหนดจุดเข้า-ออก และจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุด การจัดให้มีจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายผู้เข้าร่วมงาน มีจุดตรวจสอบหลักฐานแสดงการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ อย่างน้อย 3 เข็ม และผลตรวจการติดเชื้อ Antigen Test Kit (ATK) เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนร่วมงาน
ทั้งนี้ หากไม่มีหลักฐานแสดงการฉีดวัคซีนตามเกณฑ์ หรือมีประวัติเสี่ยง ให้ตรวจการติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK และจะต้องมีผลเป็นลบ จึงอนุญาตให้เข้าร่วมงานได้ มีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับแยกผู้มีประวัติเสี่ยงหรือมีไข้ และประสานสถานบริการสาธารณสุขเพื่อเข้าสู่ระบบส่งตัวอย่างปลอดภัย โดยห้ามผู้มีอาการป่วยเข้างานโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีจุดลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ โดยใช้แพลตฟอร์ม "ไทยชนะ" การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน 800 คน ถ้ามีผู้เข้าร่วมงานเกินกว่าจำนวนที่กำหนด ให้ผู้ประสงค์เข้าร่วมงานนั่งจุดพักคอยที่จัดเตรียมไว้ และรอเรียกตามลำดับคิว โดยมีการจัดที่นั่งให้เว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1 เมตร การกำหนดให้เจ้าหน้าที่และผู้เข้าร่วมงานทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การจัดจุดบริการแอลกอฮอล์เจลสำหรับให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง และมีการจัดทำสัญลักษณ์การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
ขณะเดียวกัน ต้องกำหนดให้มีการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสระหว่างอุปกรณ์ที่ต้องใช้ร่วมกันทุก 1-2 ชั่วโมง เช่น เก้าอี้นั่งชมการแสดง ขันสรงน้ำ เป็นต้น ทำความสะอาดห้องสุขาโดยเน้นจุดเสี่ยงที่มีผู้สัมผัสมาก เช่น กลอนประตู ที่จับสายชำระ โถปัสสาวะ ก๊อกน้ำ ฯลฯ ด้วยน้ำยาทำความสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง กำหนดจุดวางถังขยะแบบมีฝาปิดและคัดแยกขยะแต่ละประเภทออกจากกัน โดยแยกขยะหน้ากากอนามัยจากขยะทั่วไป และรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะทุกวัน
นอกจากนี้ ยังต้องจัดที่นั่งสำหรับชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมอื่นๆ โดยเว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1 เมตร และเว้นระยะห่างระหว่างเวทีและที่นั่งของผู้ชม อย่างน้อย 2 เมตร พร้อมมีเจ้าหน้าที่คอยกำกับดูแล การกำหนดให้ใช้ระยะเวลาในการจัดพิธีหรือกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานให้กระชับและสั้นที่สุด
ในส่วนของการขายสินค้า ให้จัดทำแผงกั้นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า จัดโซนสำหรับจำหน่ายอาหาร โดยให้ผู้ปรุงอาหารหรือจำหน่ายอาหารทุกคนสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม หน้ากากอนามัย ถุงมือ อุปกรณ์ป้องกันละอองฝอย และให้ล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหารหรือตักอาหาร รวมทั้งทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบเป็นระยะ มีการจัดพื้นที่รับประทานอาหารสำหรับประชาชน โดยเว้นระยะห่าง ไม่แออัด และมีฉากกั้นระหว่างโต๊ะอาหาร
อนึ่ง การจัดงานฯ ในปีนี้จะไม่ให้มีการเล่นสาดน้ำในบริเวณพื้นที่จัดงาน และจะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ และแนะนำแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค ทั้งก่อนจัดงานและภายในงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงาน เจ้าหน้าที่ ผู้จัดงาน ผู้ค้า และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด
สำหรับผู้เข้าร่วมงาน เมื่อกลับถึงบ้านหรือที่พักต้องทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที และเฝ้าระวังอาการตนเองอย่างน้อย 10 วันหลังเข้าร่วมงาน หากพบว่ามีอาการให้แจ้งเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขโดยเร็ว