นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ได้มีมติปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ โดยพื้นที่ควบคุมจาก 44 จังหวัด เป็น 20 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง จาก 25 จังหวัด เป็น 47 จังหวัด พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว จาก 8 จังหวัด เป็น 10 จังหวัด ซึ่งทุกพื้นที่ยังคงปิดสถานบริการและสถานบันเทิง แต่หากปรับเป็นร้านอาหารก็สามารถดำเนินการได้ พร้อมทั้งมีมติขยายเวลาระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นคราว ครั้งที่ 17 ตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 พ.ค. เพื่อใช้ประโยชน์ในการควบคุมโรคอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ศบค. ยังมีมติให้สามารถจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ปี 2565 ได้ พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยการเตรียมตัวก่อนร่วมงาน ประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา และกลุ่ม 608 ต้องได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ ขณะเดินทางกลับห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และต้องประเมินความเสี่ยงของตนเอง หากพบว่ามีอาการ หรือมีความเสี่ยง ขอให้หลีกเลี่ยงเข้าร่วมงาน หรือตรวจ ATK ก่อนเดินทางหรือก่อนร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง
ทั้งนี้ สถานที่จัดงานสงกรานต์ต้องอยู่ในพื้นที่ควบคุมจำกัด อนุญาตให้เล่นน้ำ และจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การละเล่น การแสดงทางวัฒนธรรม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting แต่ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม ห้ามจำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน ส่วนพื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟมเด็ดขาด ส่วนกิจกรรมในครอบครัว เลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน
โดยหลังกลับจากเทศกาลสงกรานต์แล้ว ขอให้ประชาชนสังเกตอาการตนเอง 7 วัน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และผู้ที่ไปพบปะคนจำนวนมาก หากพบว่ามีอาการสงสัยว่าจะติดเชื้อ ให้ตรวจ ATK และบางสถานประกอบการสามารถพิจารณาให้ WFH ให้เป็นไปตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้เน้นย้ำให้ฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคง ร่วมทำงานกับฝ่ายสาธารณสุขอย่างเข้มงวดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้สามารถผ่านเทศกาลนี้ไปด้วยความเรียบร้อย หากใครกระทำผิดให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการรายงานแผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น โดยขณะนี้สถานการณ์ยังอยู่ในระยะต่อสู้กัน ถ้าช่วงมีนาคมถึงต้นเมษายน ช่วยป้องกันได้อย่างดี ไปในระยะที่ 2 ช่วงเมษายนถึงพฤษภาคมจะเป็นช่วงคงตัว และจะค่อยๆ ลดลงตามการคาดการณ์ช่วงปลายพฤษาคมจนถึงเดือนมิถุนายน และในวันที่ 1 กรกฎาคมน่าจะเห็นตัวเลขลดลงได้
"แผนทั้งหมดนี้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคน แต่สถานการณ์จริงในวันที่ 1 ก.ค. จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องพิจารณาอีกครั้ง จึงต้องมีมาตรการ 4 ด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ ด้านกฏหมายและสังคม และด้านสื่อสารและประชาสัมพันธ์" โฆษก ศบค.ระบุ
ส่วนเป้าหมายการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นนั้น ต้องทำให้การเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพ มีอัตราป่วยตายไม่เกิน 0.1% และความครอบคลุมวัคซีนเข็มกระตุ้น ต้องมากกว่า 60% และต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการรับมือและปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19
สำหรับแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 นั้น กรมควบคุมโรคได้รายงานผลการฉีดวัคซีน ในกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป มีประมาณ 12.7 ล้านคน ในส่วนเข็มที่ 1 และ 2 ฉีดไปแล้ว 10 กว่าล้านคน แต่เข็มที่ 3 ฉีดไปเพียง 4 ล้านกว่าคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีป่วยหนักและเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องเร่งมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย พร้อมตั้งเป้าว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นต้องได้ 70% ก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์และได้เตรียมวัคซีนรองรับไว้ 3 ล้านโดส
ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค.รับทราบรายงานผู้เสียชีวิตตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ. 65 มีจำนวน 928 รายนั้น พบว่าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุถึง 2.17 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และเสียชีวิตถึง 557 ราย ดังนั้นจึงฝากให้คนในครอบครัวเร่งพาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ขณะที่ผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มแล้ว มีรายงานเสียชีวิต 23 ราย ซึ่งลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ 41 เท่า
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินการ มาตรการ "เจอ แจก จบ" ระหว่างวันที่ 1-13 มีนาคม มีจำนวนผู้รับบริการสะสม 207,534 ราย มีสถานบริการทั้งหมด 901 แห่ง และมีการจ่ายรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ 52% จ่ายยาฟ้าทะลายโจร 24% และจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ 26%
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ยังพิจารณาให้ขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 2 เดือน เป็นครั้งที่ 17 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 31 พ.ค.65