กรุงเทพโพลล์ เผยประชาชนส่วนใหญ่ 84.1% ได้รับผลกระทบจากน้ำมันแพง เนื่องจากทำให้ต้องจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น มีค่าเดินทางเพิ่มขึ้น เงินเหลือเก็บลดลง ขณะที่ประชาชนอีก 15.9% ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่ค่อยได้เดินทาง บริษัทจ่ายค่าน้ำมันให้ ส่วนใหญ่ใช้บริการรถสาธารณะ
สำหรับวิธีปรับตัวหรือรับมือกับปัญหาน้ำมันแพง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 57.1% ใช้วิธีงดเดินทาง งดเที่ยวช่วงวันหยุด รองลงมา 44.9% ใช้วิธีวางแผนก่อนเดินทางเพื่อเลี่ยงรถติด และ 40.4% ใช้วิธีประหยัดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อเก็บเงินไว้จ่ายค่าน้ำมัน
หากราคาน้ำมันยังแพงอยู่ สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ 76.7% ยังมีความกังวลอยู่คือ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในท้องตลาดอาจแพงขึ้นอีก รองลงมา 11.1% คือเกิดการกู้หนี้ ยืมสินเพิ่มขึ้น และ 5.5% คือ เกิดการก่ออาชญากรรม ขโมยน้ำมัน การลักลอบขนน้ำมันเถื่อน
โดยประชาชนส่วนใหญ่ 85.7% ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถจัดการกับปัญหาราคาน้ำมันแพงได้ ขณะที่มีประชาชนเพียง 14.3% เท่านั้นที่ค่อนข้างเชื่อมั่นถึงเชื่อมั่นมาก
สิ่งที่ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลควรทำเพื่อช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันและค่าเดินทางมากที่สุด 32.2% คือ ควรขายน้ำมันราคาถูกให้กับบางกลุ่ม เช่น ธุรกิจขนส่งสินค้าและอาหาร มอเตอร์ไซค์วิน แท็กซี่ ขนส่งมวลชน ฯลฯ รองลงมา 15.3% คือ ควรปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยจากโควิด เพื่อให้คนหันมาใช้แทนรถส่วนตัว และ 14.4% คือ ลดภาษีน้ำมัน ลดจำนวนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อไม่ให้น้ำมันในประเทศขึ้นราคา
ทั้งนี้ กรุงเทพโพลล์ โดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพสำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง "น้ำมันแพงกับผลกระทบที่ประชาชนได้รับ" โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,123 คน เมื่อวันที่ 14-16 มี.ค.ที่ผ่านมา