สธ.เผยผลศึกษาวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น ลดเสียชีวิต-อาการรุนแรงในกลุ่มเสี่ยงได้จริง

ข่าวทั่วไป Monday March 21, 2022 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สธ.เผยผลศึกษาวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น ลดเสียชีวิต-อาการรุนแรงในกลุ่มเสี่ยงได้จริง

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศมีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังอยู่ในระดับที่ สธ. คาดหมาย และยังสามารถรับมือได้อยู่

ทั้งนี้ จากข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-19 มี.ค. 65 มีทั้งหมด 2,464 ราย โดยพบว่าในจำนวนนี้ ยังไม่ได้รับวัคซีนถึง 57%, ได้รับวัคซีน 2 เข็ม 31%, ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 8% และได้รับวัคซีน 3 เข็ม 4% ดังนั้น ขอให้ประชาชนมารับวัคซีนเข็มบูสเตอร์ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันการป่วยหนัก และเสียชีวิต

ด้านคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาความก้าวหน้าการประเมินประสิทธิผลวัคซีน จากการใช้จริงระยะที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน พบว่า ผลเบื้องต้นการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 จ.เชียงใหม่ ในเดือนม.ค. และก.พ. 65 มีดังนี้

1. การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

-ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ในเดือนม.ค.-ก.พ. 65 ผลคือไม่ป้องกันการติดเชื้อ

-ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ในเดือนม.ค. 65 ผลคือป้องกันการติดเชื้อได้ 68% เดือนก.พ. 65 ผลคือป้องกันการติดเชื้อได้ 45%

-ฉีดวัคซีน 4 เข็ม ในเดือนก.พ. 65 ผลคือป้องกันการติดเชื้อได้ 82%

2. การป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19

-ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ในเดือนม.ค. 65 ผลคือป้องกันการเสียชีวิตได้ 93% เดือนก.พ. 65 ผลคือป้องกันการเสียชีวิตได้ 85%

-ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ในเดือนม.ค. 65 ผลคือป้องกันการเสียชีวิตได้ 98% เดือนก.พ. 65 ผลคือป้องกันการเสียชีวิตได้ 98%

-ฉีดวัคซีน 4 เข็ม ในเดือนม.ค.-ก.พ. 65 ยังไม่มีผู้เสียชีวิตในผู้ที่ได้รับวัคซีน 4 เข็ม

ทั้งนี้ สอดคล้องกับผลเบื้องต้นในการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง ระดับประเทศ เดือน ม.ค. 65 ดังนี้

1. การป้องกันการติดเชื้อโควิด-19

-ฉีดวัคซีน 2 เข็ม มีประสิทธิผล 4.1%

-ฉีดวัคซีน 3 เข็ม มีประสิทธิผล 56%

-ฉีดวัคซีน 4 เข็ม มีประสิทธิผล 84.7%

2. การป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต

-ฉีดวัคซีน 2 เข็ม มีประสิทธิผล 54.8%

-ฉีดวัคซีน 3 เข็ม มีประสิทธิผล 88.1%

3. การป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19

-ฉีดวัคซีน 2 เข็ม มีประสิทธิผล 79.2%

-ฉีดวัคซีน 3 เข็ม มีประสิทธิผล 87%

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า มีประชาชนที่มีความลังเลที่จะแนะนำผู้สูงอายุให้ฉีดวัคซีน โดยพบว่าประชาชนมีความเชื่อ คือ ญาติอายุมากแล้ว อยู่แต่ในบ้านไม่ได้ไปไหน คงไม่เสี่ยงโควิด แต่ความจริง คือโควิด-19 ปัจจุบันติดต่อง่ายมาก แม้จะระวังอย่างดีก็ตาม โดยการอยู่บ้านกันหลายคน และมีคนเข้าออกตลอด ทำให้คนที่อยู่บ้านอาจติดเชื้อได้ ซึ่งการระบาดระลอกปัจจุบัน ประมาณ 80% ของผู้เสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ซึ่งในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 60% ไม่ได้ฉีดวัคซีน และ 29% ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น

นอกจากนี้ ยังมีประชาชนที่มีความสงสัย และความกังวลว่า ญาติอายุมากแล้ว ฉีดวัคซีนจะอันตราย ซึ่งความจริง คือ วัคซีนโควิด-19 ผ่านการวิจัยมีความปลอดภัยสูง และจากการฉีดในประเทศไทยมากกว่า 120 ล้านโดส จึงยืนยันได้ว่าปลอดภัย และโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงมีน้อยมาก และมีระบบดูแลเป็นอย่างดี

"ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อยังมาจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ส่วนปัจจัยของการเสียชีวิตส่วนใหญ่ คือผู้สูงอายุ ถ้าบวกกับมีโรคประจำตัว ก็จะมีความเสี่ยงต่อการป่วยหนัก และเสียชีวิตมากขึ้น ดีที่สุดคือต้องรับวัคซีน ทั้งนี้ จากการสอบถามหลายท่านที่ไม่รับวัคซีน คือ เห็นว่าตนเองสูงอายุ และไม่ได้ไปไหน ซึ่งไม่จริง เพราะโรคโควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วแล้ว การฉีดวัคซีนก็เหมือนเรือ พาหนีน้ำท่วมไปอยู่ที่ปลอดภัย ถ้าไม่ฉีดวัคซีน ก็เหมือนรอน้ำท่วม เสี่ยงจมน้ำเสียชีวิตได้" นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงโควิดสายพันธุ์เดลตาครอนว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่มีการติดตาม และสุ่มตัวอย่างอยู่เสมอ ซึ่งเดลตาครอนยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะมีความรุนแรงมากกว่าเดิม ถ้าไม่มีความรุนแรงไปกว่าโอมิครอน ส่วนใหญ่น่าจะไม่มีอาการ โดยมองว่ายังไม่น่ากังวล ซึ่งดีที่สุดคือต้องป้องกันด้วยเครื่องมือที่มีอยู่ คือการฉีดวัคซีน

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 17 มี.ค. 65 มีคำแนะนำการให้วัคซีนโควิด-19 ดังนี้

1. การฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

-แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป

-แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป

กรณีกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ สามารถฉีดขนาดครึ่งโดสได้ ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน ทั้งนี้ มีข้อมูลการศึกษาในผู้ใหญ่ที่แข็งแรงดีว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเด็ก

2. การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12-17 ปี แนะนำให้เด็กอายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม เข้ารับวัคซีนชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 3 ขนาดโดสมาตรฐาน โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลาตั้งแต่ 4-6 เดือนขึ้นไป

3. การให้วัคซีนโควิด-19 ในผู้ที่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 แนะนำให้วัคซีนในผู้ที่มีประวัติติดเชื้อได้ตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยให้วัคซีนหลังจากการติดเชื้อเป็นเวลา 3 เดือน

ส่วนแนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3-4 การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ส่วนใหญ่เว้นระยะห่าง 3 เดือนขึ้นไป ส่วนเข็มที่ 4 เว้นระยะห่าง 4 เดือนขึ้นไป

สำหรับแผนการฉีดวัคซีนของ สธ. ขณะนี้จะให้ความสำคัญเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3-4 ในผู้ที่ครบกำหนดแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากสถิติการติดเชื้อโควิด-19 ในปี 64 พบว่าช่วงหลังสงกรานต์จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น โดยสัดส่วนของผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ มีเป้าหมายการเร่งรัดการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ คือ ผู้สูงอายุที่ถึงกำหนดการฉีดเข็มกระตุ้น ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% ก่อนเทศกาลสงกรานต์ และมีวัคซีนที่ต้องฉีดเพิ่มทั่วประเทศ จำนวน 3 ล้านโดส โดยมีแผนการดำเนินการ/กิจกรรม คือ

1. การบริการการฉีดวัคซีน โดยการจัดหน่วยบริการให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้โดยสะดวก ทั้งในสถานพยาบาลและออกหน่วยเคลื่อนที่เชิงรุก บูรณาการการค้นหาประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคชีน โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายทุกจังหวัด/กรุงเทพมหานคร และบูรณาการความร่วมมือการระดมการฉีดวัคชีน โดยกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน

2. เร่งประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้/ความเข้าใจกับประชาชน โดยบูรณาการร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และหน่วยงานสื่อประชาสัมพันธ์หลักต่างๆ และจัดงานรณรงค์การฉีดวัคชีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุเพื่อให้ประชาชนรับรู้เป็นวงกว้าง

นพ.วิชาญ ยังกล่าวถึงการระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยว่า จะมีลักษณะของโรค คือ มีไข้สูงลอย ปวดศรีษะ ปวดกระดูก เบื่ออาหาร บางรายมีจุดเลือดออก หรือเลือดออกง่าย โดยมีความเสี่ยงจากยุงที่เป็นพาหะ ส่วนอาการของโรคโควิด-19 คือ มีอาการไข้ มีอาการทางระบบหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส โดยมีความเสี่ยงจากการสัมผัส ซึ่งจะเห็นได้ว่าลักษณะอาการและความเสี่ยงของทั้ง 2 โรคนั้นต่างกัน

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเป็น 2 โรคร่วมกัน อาการจะมากขึ้นหรือไม่นั้น ขณะนี้ข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าอาการของโรคจะมีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าหากติดเชื้อพร้อมกัน อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง หรือผู้สูงอายุ ดังนั้น ประชาชนควรระมัดระวัง และไม่ประมาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ