นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้รับข้อสั่งการจาก น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้เร่งติดตามและแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ซึ่งพบมากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปัจจุบันพบการระบาดเกือบ 70 จังหวัด มีพื้นที่ได้รับความเสียหายมากกว่าล้านไร่ และมีแนวโน้มพบพื้นที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราโดยตรง เนื่องจากโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ทำให้ใบยางพาราเกิดอาการร่วงอย่างรุนแรง การเจริญเติบโตของต้นยางพาราหยุดชะงัก และผลผลิตยางพาราลดลง
ดังนั้น เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา กรมฯ จึงได้บูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กรมส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง และสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่โรคระบาด ผู้แทนสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ผู้แทนเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้แทนภาคเอกชน เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการโรคที่เหมาะสม และประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า ในส่วนบทบาทของกรมฯ ซึ่งมีภารกิจวิจัยสารและเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชที่สำคัญของประเทศไทย ได้มอบหมายให้สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ดำเนินการทดสอบหาวิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันกำจัดโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งงานวิจัยออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.งานวิจัยด้านสาเหตุของการเกิดโรค และ 2.งานวิจัยด้านการป้องกันกำจัด เพื่อประเมินประสิทธิภาพวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ชนิดของสารเคมี และชนิดของเครื่องพ่นสารที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่าย และมีความปลอดภัยต่อการนำไปใช้แนะนำให้กับเกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้ จากการศึกษาของกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช พบว่า โรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. หรือเชื้อรา Colletotrichum sp. ซึ่งสามารถแพร่ระบาดได้โดยการพัดไปตามกระแสลม และน้ำฝน รวมถึงการเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์ หรือวัสดุปลูกจากแปลงที่เกิดโรค ดังนั้น งานวิจัยด้านการป้องกันกำจัด จึงแบ่งการทดลองออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. การทดสอบหาชนิดของสารป้องกันกำจัดเชื้อราที่มีประสิทธิภาพ เบื้องต้นพบว่าสารคาร์เบนดาซิม 50% SC สารไดฟีโนโคลนาโซล+โพรพิโคนาโซล 15% + 15% EC สารโพรคลอราซ 45% EW เป็นสารที่มีประสิทธิภาพดี ให้ผลการทดลองที่สอดคล้องกันทั้งในห้องปฏิบัติการและแปลงทดสอบในพื้นที่ จ.พัทลุง และ จ.สงขลา
2. การทดสอบเทคโนโลยีการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ด้วยเครื่องพ่นสารชนิดต่างๆ เบื้องต้นจากผลการทดลอง พบว่า การพ่นสารด้วยเครื่องพ่นสารแบบใช้แรงลมขนาดใหญ่ ให้ผลในการควบคุมโรคใบร่วงได้ดีที่สุด รองลงมา ได้แก่ กรรมวิธีที่พ่นด้วยอากาศยานไร้คนขับ และกรรมวิธีการพ่นด้วยเครื่องยนต์พ่นสารแบบแรงดันน้ำสูงชนิดลากสาย
"ที่ผ่านมา คณะนักวิจัยจากสำนักวิจัยพัฒนาการอารักพืช ได้ลงพื้นที่เพื่อนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยี ไปทดสอบในสวนยางพาราของเกษตรกร ที่พบปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ขณะนี้ จะได้ชนิดสารป้องกันกำจัด เทคโนโลยีการพ่นสาร และเครื่องพ่นสารที่เหมาะสมต่อการป้องกันกำจัดโรคใบร่วงยางพาราแล้วก็ตาม แต่คณะนักวิจัยเห็นตรงกันว่าควรจะมีการทดสอบเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 แปลง เพื่อให้ได้ข้อมูลยืนยันชนิดของสารป้องกันกำจัดโรคพืช ชนิดของเครื่องพ่นสารและอัตราพ่นที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้เป็นคำแนะนำแก้ไขปัญหาการระบาดโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด" นายระพีภัทร์ กล่าว