นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโรโรนา 2019 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ขอให้พิจารณาผ่อนผันการเล่นน้ำบนถนนข้าวสารในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในวันที่ 12-15 เมษายน 65 เนื่องจากถนนข้าวสารเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นสถานที่จัดงานสงกรานต์ตามประเพณีมาโดยตลอด หากได้จัดงานในปี 65 จะเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งประเพณีสงกรานต์ของถนนข้าวสาร และจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ โดยคาดว่าจะมีรายได้เข้าประเทศในช่วงเดือนเมษายน ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท
นายสง่า กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการออกระเบียบเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ชัดเจน ซึ่งหากต้องขออนุญาตจัดงาน อาจจะทำให้ล่าช้า และเตรียมตัวไม่ทันเวลา จึงขอให้ทาง ศบค.สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พื้นที่ถนนข้าวสาร ซึ่งเคยเป็นจุดสำคัญในการจัดกิจกรรมสงกรานต์ที่ผ่านมา สามารถจัดงานในถนนคนเดินได้ ซึ่งในพื้นที่ 400 ตารางเมตร สามารถรองรับประชาชนได้ 5,000 คน ไม่รวมคนที่อยู่ภายในอาคาร โดยจะมีการประสานงานการระหว่างต้นทางกับปลายทาง เพื่อจำกัดจำนวนคนเข้าออกภายในงาน
ทั้งนี้ ทางสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร สามารถขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการจัดมาตรการควบคุม และปฏิบัติตามมาตรการ Covid free setting ได้ ทั้งการกำหนดจุดคัดกรอง การควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน ผู้ที่เข้ามาในถนนข้าวสารต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม โดยไม่มีการตรวจ ATK หน้างาน และภายในงานจะงดประแป้ง และไม่มีการจัดปาร์ตี้โฟม
"ถนนข้าวสาร มีรายได้ในช่วงเทศกาลวันละ 50-80 ล้านบาท หรือประมาณ 50,000 บาทต่อวัน แต่ได้หยุดกิจกรรมสงกรานต์ ไป 2 ปี ดังนั้น 4 วันของปีนี้ หากไม่ให้จัดกิจกรรม นักท่องเที่ยวก็จะไม่กลับมา รายได้ที่จะกระจายไปที่อื่นก็จะไม่มี การที่รัฐบาลออกมาห้ามเพียงอย่างเดียว ถือว่าเป็นการทำร้ายประชาชนเกินไป ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาแล้ว 2 ปี ซึ่งหากครั้งนี้อนุญาต ก็จะนำไปใช้เป็นโมเดลกับถนนอื่นๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป" นายสง่า กล่าว
ส่วนความกังวลว่าการจัดกิจกรรมสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร จะส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนั้น นายสง่า กล่าวว่า ปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อนั้นสูงทุกวันอยู่แล้ว แต่หากไม่ให้จัดกิจกรรมสงกรานต์ ทำไมถึงให้จัดอีเว้นท์อื่นๆ ได้ และเมื่อรัฐบาลจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในเดือนกรกฎาคม จึงเห็นว่าควรเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กันไปในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
ส่วนเรื่องขยายเวลาการดื่มแอลกอฮอล์ ให้สามารถดื่มได้เกินเวลา 23.00 น.นั้น ยังไม่ได้คิดในเรื่องนี้ แต่ถ้ารัฐบาลไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมที่บนถนนข้าวสาร ผู้ประกอบการก็สามารถจัดกิจกรรมภายในร้านได้ ซึ่งผู้ประกอบการก็ได้เตรียมการไว้อยู่แล้ว