นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุความคืบหน้าของงานวิจัยเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 โดย Lentini A และคณะ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในประเทศสวีเดน ใน medRxiv เมื่อวานนี้ (27 มี.ค. 65) พบว่า คนที่ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 นั้นจะมีปริมาณไวรัสในช่องคอ มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่าง BA.1 ถึง 2 เท่า จึงเป็นหลักฐานอธิบายปรากฏการณ์ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญการกลับมาระบาดซ้ำมากขึ้นของโอมิครอน BA.2 ซึ่งตอนนี้เป็นสายพันธุ์หลักไปแล้ว
ทั้งนี้ ยิ่งปริมาณไวรัสเยอะ ยิ่งมีโอกาสแพร่ได้มาก โดยผลการศึกษาของสวีเดนชี้ให้เห็นปริมาณไวรัสในช่องคอ ซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนบน จึงทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ง่าย ไม่ว่าจะจากการพบปะพูดคุยคลุกคลีใกล้ชิด หรือแชร์ของกินและอุปกรณ์ภาชนะที่ใช้กินดื่ม รวมถึงบุหรี่ และอื่นๆ
ในขณะเดียวกัน ทาง UK HSA ได้ออกตารางสรุปเกี่ยวกับความรู้ที่มีขณะนี้เรื่องสายพันธุ์ BA.2 ดังนี้
1. สามารถจับกับตัวรับ ACE2 บนผิวเซลล์ได้ดีกว่า BA.1 ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะอธิบายสมรรถนะการติดเชื้อแพร่เชื้อที่มากกว่าเดิม
2. อัตราการติดเชื้อไปยังผู้อื่น (secondary attack rate) สูงกว่า BA.1
3. ระยะเวลานับจากวันแรกที่คนที่ติดเชื้อคนแรกมีอาการ ไปยังคนที่รับเชื้อมีอาการ (serial interval) สั้นกว่า BA.1
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ข้อมูลเท่าที่มีจะมีแนวโน้มว่า BA.2 มีความรุนแรงไม่ต่างจาก BA.1 แต่ด้วยสมรรถนะการแพร่เชื้อติดเชื้อที่มากขึ้นกว่าเดิม จำนวนเคสที่มากขึ้นก็จะส่งผลต่อจำนวนการป่วยหรือเสียชีวิตที่อาจมากขึ้นได้ ดังนั้น การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นกิจวัตรจึงสำคัญมาก
"ไทยขณะนี้ BA.2 ก็เป็นตัวหลักเช่นกัน และสถิติติดเชื้อรายวันและเสียชีวิตรายวันก็ติดอันดับโลกมาตลอด ดังนั้น ใส่หน้ากาก พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด แยกจากผู้อื่น และหยุดเรียนหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน ส่วนคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้ ดังนั้น จึงต้องป้องกันตัวด้วย นอกจากนี้ ยังควรหมั่นตรวจเช็คสมรรถนะสุขภาพของตนเอง หากมีอะไรที่ผิดปกติต่างไปจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ เพราะมีโอกาสเป็น Long COVID ได้ โดยที่เกิดได้แทบทุกระบบของร่างกาย" นพ.ธีระ ระบุ
สำหรับสถานการณ์ระบาดโควิด-19 วานนี้ (27 มี.ค. 65) ทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 989,476 คน ตายเพิ่ม 2,324 คน รวมแล้วติดไปรวม 481,859,155 คน เสียชีวิตรวม 6,147,878 คน โดย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ ประเทศเกาหลีใต้ ฝรั่งเศส เวียดนาม เยอรมนี และอิตาลี โดยเมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
ทั้งนี้ จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 90.85% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 82.22% การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็น 56.48% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 47.46%
ในส่วนของสถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม Antigen Test Kit (ATK) สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก