นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในส่วนของประเทศไทย ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า พบสายพันธุ์ XE 1 ราย โดยโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย XE เกิดจากการผสมระหว่างโอมิครอน BA.1 + BA.2 พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ซึ่งในประเทศอังกฤษมีการวิเคราะห์ว่า พบตัวอย่างของสายพันธุ์ XE มากขึ้นเมื่อเทียบกับ BA.2 ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นพบว่า สามารถแพร่เร็วขึ้นประมาณ 10% ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาระบุว่า สายพันธุ์ XE ยังนับเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน จนกว่าจะพบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญในการแพร่ และความรุนแรงของโรค ซึ่ง WHO ก็อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
สำหรับกรมวิทย์ฯ มีการตรวจพบสายพันธุ์ที่มีความใกล้เคียงสายพันธุ์ XJ (เกิดจากการผสมระหว่างโอมิครอน BA.1 + BA.2) ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศฟินแลนด์ เป็นชายไทย อายุ 34 ปี อาชีพพนักงานขนส่ง ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็ม โดยตรวจพบเชื้อในวันที่ 22 ก.พ. 65 รพ. ในกทม.
"ทั้งสองตัวที่พบในไทย เป็นการผสมพันธุ์ของโอมิครอน BA.1 + BA.2 เหมือนกัน แต่มีรหัสพันธุ์กรรมที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ทั้งสองสายพันธุ์ที่พบยังไม่ถูกยอมรับ ซึ่งวันที่ถูกยอมรับแล้วท้ายที่สุดอาจจะไม่ใช่ทั้งสายพันธุ์ XJ หรือ XE ก็ได้ เนื่องจากอนาคตอาจมีข้อมูลมากขึ้น และมีการศึกษาวิเคราะห์ที่มากขึ้น" นพ.ศุภกิจ กล่าว
อย่างไรก็ดี การกลายพันธุ์ของโควิด-19 (Recombinant) เป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดในวงกว้าง และจำนวนมาก โดยขณะนี้ทั่วโลกพบการกลายพันธุ์ทั้งหมด 17 ตัว ซึ่งมีเพียง 3 ตัว ในระบบการเฝ้าระวังสายพันธุ์ของโลก ที่ได้รับการยอมรับ (Assigned) แล้วว่ามีการเกิดการผสมพันธุ์ (Hybrid) จริง ได้แก่
1. สายพันธุ์ XA มาจาก B.1.1.7 (อัลฟา) + B.1.177
2. สายพันธุ์ XB มาจาก B.1.634 + B.1.631
3. สายพันธุ์ XC มาจาก AY.29 + B.1.1.7 (อัลฟา)
ส่วนที่เหลืออีก 14 ตัว คือ XD, XE, XF, XG, XH, XJ, XK, XL, XM, XN, XP, XQ, XR และ XS ยังไม่ได้รับการยอมรับ (Designated) หรือต้องมีการวิเคราะห์สายพันธุ์มากกว่านี้
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในช่วงวันที่ 26 มี.ค.-1 เม.ย. 65 พบ 3 ราย (0.16%) เป็นสายพันธุ์เดลตา และ 1,930 ราย (99.84%) เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ทั้งนี้ สามารถจำแนกสายพันธุ์ได้ คือ B.1.1.529 ทั้งหมด 15 ราย, BA.1 ทั้งหมด 150 ราย และ BA.2 ทั้งหมด 1,765 ราย
"แสดงให้เห็นว่า BA.2 มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศอังกฤษพบว่า BA.2 สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่า BA.1 ซึ่งไทยในอนาคตอันใกล้นี้ BA.1 จะหายไป และ BA.2 ก็จะเข้ามาแทนที่ ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่แสดงว่า BA.2 มีความรุนแรง หรือสามมารถหลบภูมิได้มากกว่า BA.1 แต่อย่างใด" นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าการแพร่ระบาดในขณะนี้จะเป็นสายพันธุ์ใด แต่การเฝ้าระวังยังเหมือนเดิม คือ ประชาชนต้องยึดหลัก Universal Prevention ฉีดวัคซีน ใส่หน้ากาก ล้างมือ นอกจากนี้ ประชาชนต้องตั้งหลักในการรับข่าวสาร และไม่วิตกกังวลจนเกินไป เนื่องจากทั่วโลกยังมีข้อมูลเรื่องโควิด-19 อย่างจำกัด
ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงประเด็นเรื่อง ภูมิคุ้มกันเข้าข้างวัคซีน ที่มีการส่งต่อในออนไลน์ว่า ผู้ผลิตวัคซีนก่อนที่จะขอขึ้นทะเบียนในประเทศใดๆ ก็ตาม จะต้องมีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่า อาสาสมัครที่รับวัคซีนต้องไม่เกิดภาวะส่งเสริมให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในร่างกาย จนเกิดอาการรุนแรงจนภูมิคุ้มกันลดลง (Vaccine-associated enhanced disease: VAED) หรือที่เรียกว่าภาวะ VAED จากการตรวจสอบข้อมูลของทั้งประเทศไทย (สำนักงานอาหารและยา: อย.) และของต่างประเทศนั้น พบว่ายังไม่เกิดภาวะ VAED ภายหลังได้รับวัคซีนทั้ง 3 เข็ม ดังนั้น ยืนยันว่ายังไม่มีข้อมูลการเกิดภาวะ VAED ที่เพียงพอ
ด้านนพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของกลุ่มเด็กอายุ 0-14 ปี ว่า การระบาดในระลอกเดือนเม.ย. 64 พบผู้ป่วยมากกว่าระลอกในเดือนม.ค. 65 ทั้งนี้ ในกลุ่มอายุ 0-4 ปี พบสัดส่วนการเสียชีวิตมากขึ้น จาก 23 ราย ในระลอกเดือนเม.ย. 64 เป็น 27 ราย ในระลอกเดือนม.ค. 65
อย่างไรก็ดี ในกลุ่มเด็กผู้เสียชีวิต พบว่า เด็กไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่มีข้อมูลรับวัคซีนถึง 99 ราย (95%) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กอายุมากกว่า 5 ปี ควรได้รับวัคซีน นอกจากนี้ เด็กในกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวก็มีสัดส่วนการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่มีโรคประจำตัวด้วย โดยเฉพาะในเด็กกลุ่ม 0-4 ปี ที่ในประเทศไทยยังไม่อนุมัติการฉีดวัคซีน
นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดที่สำคัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า กลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยหนัก ได้แก่
1. ผู้สูงวัยที่ไม่ค่อยออกนอกบ้าน กลุ่มติดเตียง อาจรับเชื้อจากผู้ดูแล ญาติในบ้าน หรือผู้ที่มาเยี่ยม
2. กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) ที่ยังทำงานได้ เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากผู้อื่น ทั้งจากเพื่อน คนรู้จัก ญาติ รวมทั้งไปในสถานที่แออัดหรือพลุกพล่าน เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และขนส่งสาธารณะ
3. เด็กเล็ก (อายุน้อยกว่า 5 ปี) จากข้อมูลกรณีเสียชีวิต 60% มีปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อในครอบครัวหรือญาติ และอีก 40% ไม่สามารถระบุแหล่งโรคได้ ส่วนเด็กวัยเรียน ช่วงปิดเทอมมีแนวโน้มติดเชื้อลดลง ในส่วนของวัยทำงาน ยังคงมีอัตราการติดเชื้อสูงมาก
สำหรับสถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง ต่อการแพร่โรคในวงกว้าง ได้แก่ 1. ทานข้าว ดื่มสุราร่วมกันเป็นเวลานาน ในร้านอาหาร สถานที่อื่นๆ ที่มีการระบายอากาศไม่ดี 2. ร่วมงานหรือกิจกรรม ที่มีผู้คนแออัดหรือพลุกพล่าน และไม่มีมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่ดีเพียงพอ โดยให้ประชาชนสังเกตก่อนเข้างาน และ 3. ขนส่งสาธารณะ รถโดยสาร ที่แออัด และมีผู้โดยสารที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เช่น ไม่สวมหน้ากากนานๆ
ดังนั้น ขอความร่วมมือประชาชน ดังนี้ ผู้สูงวัย และเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป ที่มีโรคประจำตัวให้รีบไปฉีดวัคซีน, ก่อนพบกลุ่ม 608 ให้สวมหน้ากาก และมีผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) เป็นลบ, หลีกเลี่ยงการพาผู้สูงวัย เด็กเล็ก ไปสถานที่พลุกพล่าน แออัด, เลี่ยงทานข้าว ดื่มสุรา ร่วมกันเป็นเวลานาน, เตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทาง สังเกตมาตรการที่จัดงาน และสถานประกอบการ พิจารณาให้พนักงานทำงานที่บ้าน 5-7 วัน ก่อนกลับทำงาน และมีผล ATK เป็นลบ