นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) แจ้งความประสงค์ทำข้อตกลงเพื่อเข้าร่วมให้บริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ และสิทธิพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บริการทั้ง เจอ แจก จบ, Home Isolation, Hospitel กว่า 100 แห่ง เพิ่มความสะดวกและเข้าถึงบริการ ช่วยผู้ติดเชื้อได้รับการดูแล ลดความแออัดใน รพ.รัฐ
อนึ่ง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ให้แยกผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยที่เป็นสีเขียวออกจากสิทธิประโยชน์ UCEP Plus (เจ็บป่วยฉุกเฉิน) โดยให้คงไว้แต่ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการสีเหลืองและแดงเท่านั้นที่สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้ได้ ดังนั้นในส่วนของการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว จึงต้องไปรักษายังสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาของแต่ละคน
สำหรับรายชื่อโรงพยาบาลเอกชนที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียวนั้น สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/page/privatehospital_green
โดยโรงพยาบาลเอกชนกลุ่มนี้จะให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว ที่มีอาการดังต่อไปนี้ มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาขึ้นไป จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดง โดยผู้ป่วยจะได้รับการคัดกรองเพื่อแยกกลุ่มอาการก่อน หากเข้าเกณฑ์โควิด-19 สีเขียว จะเข้าสู่ระบบการรักษาและดูแล ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนจะให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียว มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยครอบคลุมทั้งบริการผู้ป่วยนอกแยกกักตัวที่บ้าน (เจอ แจก จบ) ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข และบริการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและในชุมชน Home Isolation / Community Isolation) และบริการ Hospitel
บริการผู้ป่วยนอกแยกกักตัวที่บ้าน สถานพยาบาลสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาเบื้องต้นแบบเหมาจ่าย 1,000 บาท/ราย ครอบคลุมบริการให้คำแนะนำแยกกักตัวที่บ้าน ยารักษาโรคโควิด-19 3 สูตร ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร ยารักษาตามอาการ และยาฟาวิพิราเวียร์ (เบิกจาก สธ.) เป็นต้น และการติดตามอาการผู้ป่วยหลังครบ 48 ชั่วโมง รวมถึงการส่งต่อหากผู้ป่วยมีอาการแย่ลง และค่าบริการให้คำปรึกษาแบบเหมาจ่าย 300 บาท สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีการโทรศัพท์กลับมาภายหลัง 48 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะมาจากอาการไม่ดีขึ้นหรือจำเป็นต้องส่งต่อ
บริการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและในชุมชน (Home Isolation / Community Isolation) และบริการ Hospitel เป็นการเบิกจ่ายค่าบริการเหมาจ่าย โดยครอบคลุมค่าบริการดูแลผู้ป่วย ทั้งค่าอาหาร 3 มื้อ การประเมินและติดตามอาการ การให้คำปรึกษา นอกจากนี้ยังมีค่าอุปกรณ์ในการดูแลและติดตามสัญญาณชีพ ค่ายาที่เป็นการรักษาโรคโควิด-19 และค่าเอกซเรย์ปอดกรณีที่มีความจำเป็น โดยกรณีให้บริการรักษาและติดตาม 1-6 วัน เป็นจำนวน 6,000 บาท และกรณีให้บริการรักษาและติดตาม 7 วันขึ้นไป เป็นจำนวน 12,000 บาท
นอกจากผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียวสิทธิบัตรทอง 30 บาทหรือสิทธิ สปสช.สามารถไปใช้บริการได้แล้ว กรมบัญชีกลางยังประกาศให้ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการที่เบิกจากกรมบัญชีกลางสามารถไปรักษาได้ที่โรงพยาบาลเอกชนกลุ่มนี้ได้ด้วย เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นสิทธิพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ สปสช.บริหารกองทุนนี้อยู่ โดยขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนกว่า 100 แห่งแล้วที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมให้บริการ ดังนั้นผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวตามสิทธิรักษาดังกล่าว นอกจากจะเข้ารับบริการรักษาพยาบาลตามสิทธิรักษาแล้ว ยังสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมได้
"สปสช.ขอขอบคุณโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมเพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สีเขียว ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่าหลังจากเทศกาลสงกรานต์แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาจจะเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามด้วยความร่วมมือนี้จะทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับการคัดกรองตามกลุ่มอาการและได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง นอกจากช่วยเพิ่มความสะดวกและเข้าถึงบริการแล้ว ยังเป็นการช่วยลดความแออัดการรับบริการที่โรงพยาบาลรัฐ และแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ภาครัฐได้ด้วย" เลขาธิการ สปสช. กล่าว