น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบกรณีการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว เพื่อดำเนินการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ
โครงการดังกล่าวดำเนินการโดยกรมทางหลวง ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการจ้างบริษัทวิศกรที่ปรึกษาควบคุมงาน และบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง และได้ลงนามสัญญาจ้างเพื่อการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว การดำเนินโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวระหว่างบ้านดอนยม ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ประเทศไทย กับบ้านก้วยอุดม เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว เพื่อดำเนินการก่อสร้าง และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคลากร ยานพาหนะ เครื่องจักรอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ซึ่งการดำเนินการเพื่อเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้ สมช. พิจารณาเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว เพื่อดำเนินการก่อสร้าง
โดย ครม.ยังได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำเงื่อนไข ข้อกำหนด และการควบคุมดูแลไม่ให้มีผลกระทบในด้านต่างๆ และดูแลให้การดำเนินการโครงการ เป็นไปอย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายและกระทบต่อความั่นคง โดยต้องปฏิบัติตามมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ได้แก่ มติ ครม.เมื่อวันที่ 12 ต.ค.42 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการก่อสร้างถนนหรือกระทำกิจการใดๆ บริเวณชายแดน และ มติ ครม.เมื่อวันที่ 10 พ.ค.48 เรื่อง การระงับการก่อสร้างถนนบริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ พร้อมกับให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดย สศช.มีความเห็นว่า การเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวดังกล่าวควรกำหนดเวลาเปิด-ปิดในแต่ละวัน รวมทั้งกำหนดประเภทของยานพาหนะ เครื่องจักร/อุปกรณ์ บุคคลเข้าออกและจำกัดอาณาเขตพื้นที่การข้ามแดนให้ชัดเจน เพื่อมิให้จุดผ่านแดนชั่วคราวถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น รวมทั้งควรเร่งรัดการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 จะช่วยพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับสปป.ลาว อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า รองรับปริมาณการดำเนินทางเพื่อการท่องเที่ยว การขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งลดความแออัดในการขนส่งสินค้าไปยัง สปป.ลาว และประเทศใกล้เคียง
ในส่วนของการก่อสร้าง กรมทางหลวง รายงานว่าได้มีการวางแผนรองรับ และดำเนินการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในประเด็นต่างๆ เช่น การกัดเซาะตลิ่ง การเปลี่ยนแปลงทิศทางของน้ำ เป็นต้น