น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2564 โดยในด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 โครงการ ได้แก่
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) งานศึกษาและวิเคราะห์โครงการแล้วเสร็จ งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และงานเดินรถมีความก้าวหน้า 89.70% เร็วกว่าแผน 0.44% คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือน มี.ค.68
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และงานเดินรถมีความก้าวหน้า 90.70% เร็วกว่าแผน 1.74% คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือน ก.ย.65
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และงานเดินรถมีความก้าวหน้า 84.90% เร็วกว่าแผน 4.19% คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือน มิ.ย.65
ขณะที่มีโครงการอยู่ระหว่างการประกวดราคาอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้า 37.75% ซึ่งเป็นไปตามแผน และงานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้า 9.10% ล่าช้ากว่าแผน 0.73% เนื่องจาก รฟม.ได้มีประกาศยกเลิกประกวดราคางานโยธา เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.70
รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้า 17.80% ล่าช้ากว่าแผน 0.20% งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า และงานเดินรถมีความก้าวหน้า 5% ซึ่งเป็นไปตามแผน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ก.ย.70
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการมี 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ธ.ค.69, โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ก.พ.71, โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ก.พ.71 และโครงการรถไฟฟ้าจังหวัดพิษณุโลก คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ก.ค.71
ขณะที่โครงการและแผนงานของ รฟม.ในอนาคตด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม.ได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ระบบตั๋วร่วม โดยจะสามารถเปิดให้บริการระบบตั๋วร่วม EMV contactless ในรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรมอย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2565
ในส่วนของด้านการเงินของ รฟม.ในปี 2564 มีผลประกอบการกำไรสุทธิ 1,927.83 ล้านบาท โดยมีรายได้ 16,018.27 ล้านบาท เป็นเงินอุดหนุน 10,434.78 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวม 14,090.44 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 99.99% สูงกว่าที่ครม.กำหนดให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า 95% ของวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน และยังมีรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องจากรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล 104.16 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 33.48 ล้านบาท และสายฉลองรัชธรรม 24.26 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 6.73 ล้านบาท ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ 1.20% จากเป้าหมาย 0.85% รวมทั้งได้จัดทำรายงานการศึกษาโครงสร้างงบกำไรขาดทุนของ รฟม.เสร็จเรียบร้อยแล้ว