นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ลงพื้นที่ประชุมเตรียมการจัดงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ผู้อำนวยการคณะกรรมการส่งเสริม เพื่อติดตามผลและเตรียมความพร้อมการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ปี 2569 ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการจัดงานดังกล่าว โดยเน้นย้ำความถูกต้องตามระเบียบราชการ
ทั้งนี้ เป็นการจัดงานร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรฯ จ.อุดรธานี สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สสปน. เป็นผู้รับสิทธิ์ในการรับผิดชอบในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก พ.ศ.2565 โดยเป็นไปตามระบบและระเบียบการทำงานแบบสากลของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPS) และ สสปน. ยังมีความสัมพันธ์กับสมาคมหรือองค์กรพืชสวนทั่วโลก
จากการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้กรมวิชาการเกษตร ร่างโครงสร้างและองค์ประกอบของการจัดตั้งสำนักงานจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจำนวน 2 แห่ง คือ กรมวิชาการเกษตร และ จ.อุดรธานี ให้มีโครงสร้างคล้ายกัน สำหรับการประสานและดำเนินการตามผังโครงสร้างการบริหารจัดงานฯ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออกพืช ในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก
ทั้งนี้ เนื่องด้วยการจัดงานฯ เป็นการนำเข้าและส่งออกพืช เพื่อมาจัดงานดังกล่าวจากต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้พื้นที่จัดงานฯ เป็นพื้นที่ควบคุมศัตรูพืช ตามพ.ร.บ.กักพืชฯ การเคลื่อนย้ายนำเข้าและออก ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.กักพืชฯ ทราบ
นอกจากนี้ มีการพิจารณาตั้งด่านตรวจพืชท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี เพื่อตรวจสอบศัตรูพืชในสินค้านำเข้าและส่งออก รองรับการจัดงานและอนาคต เนื่องจากเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ มีการเข้าออกของชาวต่างชาติ โดยเชิญกรมศุลกากรเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานด้วย พร้อมเสนอให้จัดตั้งด่านตรวจพืชถาวรที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งภายหลังการประชุมในครั้งนี้จะได้นำเสนอกระทรวงเกษตรฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก มีธีมการจัดงานในหัวข้อ Harmony of Life (วิถีชีวิต สายน้ำ และพืชพรรณ) พื้นที่การจัดงานที่ ต.กุดสระ อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์อยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย มีพื้นที่ 1,030 ไร่ แบ่งเป็นพื้นน้ำ 400 ไร่ พื้นดิน 630 ไร่ ระยะเวลาการจัดงานทั้งสิ้นรวม 134 วัน
ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาด้านพืชสวนของไทย รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำและพืชสมุนไพร ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและเทคโนโลยีพืชสวนในระดับชาติ และระดับนานาชาติ รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย รองรับการเปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกัน ได้กำหนดเป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกดังกล่าว คือการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ จากการประเมินผลการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) พบว่าจะก่อให้เกิดรายได้สะพัดถึง 32,000 ล้านบาท มีมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 20,000 ล้านบาท เกิดการสร้างงาน 8,100 อัตรา และมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี 7,700 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 36 ล้านคน และมีประเทศผู้สนใจเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 40 ประเทศทั่วโลก