ทั้งนี้ ได้ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้าไปร่วมกับกรรมการสหกรณ์ในการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทั้ง 2 ราย รวมทั้งประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้คดีนี้เข้าไปอยู่ในกฎหมายปปง.และดีเอสไอ เพื่อสามารถตรวจสอบเชิงลึก เรียกหลักฐานเอกสาร บัญชีและทรัพย์สินที่มีการโอนถ่ายหรือแอบแฝงไว้ในบัญชีผู้อื่น
นอกจากนนั้น ขอฝากให้สหกรณ์ทั่วประเทศนำระบบเงินฝากเข้าสู่ระบบแอปพลิเคชั่นที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ทำขึ้น เพื่อให้สมาชิกผู้ฝากเงินสามารถตรวจสอบสถานะทางการเงินของแต่ละคนได้ตลอดเวลา (Real Time) กรณีที่สหกรณ์ใดประวิงเวลาหรือไม่ดำเนินการตามนี้ ก็อาจจะเป็นเหตุให้ตั้งข้อสงสัยได้ว่าส่อกระทำการทุจริตหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องฝากสมาชิกสหกรณ์ทุกคนร่วมกันขับเคลื่อนให้สหกรณ์ของตัวเองเข้าสู่ระบบแอปพลิเคชั่นดังกล่าว
"ขอฝากไปยังเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตว่า ควรมามอบตัวและคืนทรัพย์สินที่มีการยักยอกไป เพื่อบรรเทาโทษ ดังนั้นเชื่อว่าการสืบทรัพย์จะใช้เวลาไม่มากที่จะนำมาคืนให้กับสมาชิกสหกรณ์ ส่วนผู้กระทำผิดนั้น ขณะนี้ได้รับรายงานว่าบางคนหนีไปประเทศลาว บางคนหนีไปประเทศเวียดนาม ก็ขอฝากว่าให้กลับมามอบตัวเป็นวิธีที่ดีที่สุด" รมช.มนัญญา กล่าว
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กสส. และกตส. เร่งรัดดำเนินการใน 2 มาตรการคือ
1. ให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง 2 กรม เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ และผลกระทบที่สมาชิกได้รับและรายงานผลให้ทราบภายในเดือน เม.ย.นี้ นอกจากนั้นให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หากพบรายใดมีส่วนกระทำผิดให้ใช้อำนาจนายทะเบียนสั่งหยุดหน้าที่หรือให้พ้นจากตำแหน่งทันที หากจำเป็นให้พิจารณาตั้งคณะกรรมการชั่วคราวขึ้นมาแก้ไขปัญหาได้ รวมทั้งให้อธิบดีทั้งสองกรมประสาน ปปง. และดีเอสไอตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งหมดของผู้กระทำผิด ทั้งสืบค้น อายัดทรัพย์สิน เพื่อป้องกันความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด (เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นมากกว่า 100 ล้านบาท)
2. ให้กตส. ตรวจสอบสถานะทางการเงินของสหกรณ์ว่ายังมีสภาพคล่องอย่างไร ดำเนินกิจการได้ตามปกติหรือไม่ และให้ตรวจสอบการทำงานของเอกชนที่สหกรณ์จ้างตรวจบัญชีว่า มีมาตรการการตรวจสอบอย่างไร ระหว่างการตรวจสอบควรระงับการสอบบัญชีของเอกชนรายนี้ หากพบว่ามีส่วนรู้เห็นให้ถอดชื่อออกจาทำเนียบของกรม หรือแบล็คลิสต์ ส่วนการแก้ไขในระยะต่อไป ให้ทั้งสองกรมไปตรวจสอบว่ายังมีช่องโหว่ใด ของระเบียบและกฎหมายที่ทำให้สามารถทุจริตได้
นายประกอบ พงศ์เผ่า รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นพบผู้เสียหาย 85 ราย วงเงิน 491 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มเติม เนื่องจากยังตรวจสอบไม่ครบ 100% ดังนั้นขอให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ เร่งแจ้งรายชื่อหรือตรวจสอบทรัพย์สินของตนภายในวันที่ 8 เม.ย. นี้ เพื่อให้ได้ตัวเลขที่ครอบคลุมทั้งหมด
นางอัญชนา ตราโช รองประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า สหกรณ์มีทุนเรือนหุ้น 1,574 ล้านบาท เงินฝากของสมาชิกออมทรัพย์ 1,600 กว่าล้านบาท ทุนสำรอง 151 ล้านบาท และเงินลงทุน 650 ล้านบาท ทั้งนี้สหกรณ์พร้อมที่จะนำเอาเงินลงทุน 650 ล้านบาทมาสำรองเพื่อแก้ไขความเสียหายดังกล่าว บรรเทาความเดือดร้อนสมาชิกที่ได้รับความเสียหาย ดังนั้นสหกรณ์ยังมีความมั่นคงทางการเงินในการให้บริการแก่สมาชิก