นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อเทียบกับราคาพลังงานในหลายประเทศทั่วโลก ราคาพลังงานในประเทศไทยยังไม่แพงที่สุด เช่น ราคาน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 7 เม.ย.65 ประเทศไทยยังอยู่ที่ 29.49 บาท/ลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลของประเทศต่างๆ เช่น ฮ่องกงอยู่ที่ 84.97 บาท/ลิตร นอร์เวย์อยู่ที่ 80.57 บาท/ลิตร อังกฤษอยู่ที่ 77.80 บาท/ลิตร สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 44.92 บาท/ลิตร อินเดียอยู่ที่ 44.23 บาท/ลิตร ญี่ปุ่นอยู่ที่ 40.41 บาท/ลิตร ส่วนในอาเซียน เช่น สิงคโปร์อยู่ที่ 64.90 บาท/ลิตร ลาวอยู่ที่ 48.60 บาท/ลิตร ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 47.36 บาท/ลิตร กัมพูชาอยู่ที่ 43.78 บาท/ลิตร เมียนมาอยู่ที่ 41.83 บาท/ลิตร อินโดนีเซียอยู่ที่ 40.86 บาท/ลิตร โดยราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลทั่วโลกอยู่ที่ 43.85 บาท/ลิตร
ขณะที่ราคา LPG ณ วันที่ 7 เม.ย.65 ประเทศไทยอยู่ที่ 19 บาท/กก. ขณะที่ราคา LPG ประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น สวีเดนอยู่ที่ 93.65 บาท/กก. อินเดียอยู่ที่ 61.20 บาท/กก. อังกฤษอยู่ที่ 58.19 บาท/กก. ออสเตรเลียอยู่ที่ 56.63 บาท/กก. เกาหลีใต้อยู่ที่ 56.37 บาท/กก. ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 51.61 บาท/กก. ตุรกีอยู่ที่ 49.52 บาท/กก. กัมพูชาอยู่ที่ 45.89 บาท/กก. โดยราคาเฉลี่ย LPG ทั่วโลกอยู่ที่ 52.96 บาท/กก.
ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน ณ วันที่ 7 เม.ย.65 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ประเทศไทยอยู่ที่ 38.35 บาท/ลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ฮ่องกงอยู่ที่ 96.24 บาท/ลิตร นอร์เวย์อยู่ที่ 83.11 บาท/ลิตร อังกฤษอยู่ที่ 71.60 บาท/ลิตร อินเดียอยู่ที่ 49.74 บาท/ลิตร ญี่ปุ่นอยู่ที่ 46.27 บาท/ลิตร สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 40.47 บาท/ลิตร ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินทั่วโลกอยู่ที่ 45.36 บาท/ลิตร ส่วนราคาน้ำมันเบนซินในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์อยู่ที่ 70.53 บาท/ลิตร ลาวอยู่ที่ 57.82 บาท/ลิตร ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 48.63 บาท/ลิตร กัมพูชาอยู่ที่ 47.91 บาท/ลิตร เวียดนามอยู่ที่ 43.53 บาท/ลิตร มาเลเซียอยู่ที่ 40.12 บาท/ลิตร เป็นต้น
"ราคาพลังงานของประเทศต่างๆ ทั่วโลกและประเทศในอาเซียน ทั้งพลังงานจากน้ำมันดีเซล LPG และน้ำมันเบนซิน เมื่อเปรียบเทียบกับราคาพลังงานในประเทศไทยแล้วพบว่า ราคาพลังงานของไทยยังถูกกว่าในหลายประเทศ รวมทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ยพลังงานทั่วโลก ราคาพลังงานในประเทศไทยก็ยังถือว่าต่ำกว่าราคาเฉลี่ยพลังงานทั่วโลกเช่นกัน ส่วนประเทศที่มีราคาพลังงานถูกกว่าไทยนั้น เพราะประเทศเหล่านั้นมีพลังงานของตนเอง" นายธนกร กล่าว
ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการดูแลราคาพลังงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาทจนถึงสิ้นเดือนเม.ย.65 จากนั้นในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.65 รัฐจะช่วยส่วนที่ราคาเพิ่มเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง หรือ 50% รวมทั้งการบรรเทาผลกระทบราคาค่าก๊าซหุงต้ม (LPG) ให้กับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเพิ่มวงเงินช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้มเป็น 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคงราคาขายปลีก NGV ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ให้กับผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ทั่วไป อีกทั้งยังช่วยราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ โดยได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน สนับสนุนราคาก๊าซ NGV ให้ผู้ขับรถแท็กซี่ ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน โดยจะตรึงไว้ที่ราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังดูแลในส่วนของค่าไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.65 โดยช่วยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งคนในกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 20 ล้านรายทั่วประเทศ โดยงบประมาณด้านพลังงานที่ภาครัฐช่วยเหลือประชาชนตั้งแต่เหตุการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันเป็นเงินจำนวน 164,228 ล้านบาท คาดว่าจะใช้งบประมาณอีก 43,602 - 45,102 ล้านบาทในการดำเนินมาตรการที่กล่าวข้างต้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะมีการออกมาตรการดูแลช่วยเหลือด้านพลังงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ก็ยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้ช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะมีการออกแคมเปญเพื่อรณรงค์ส่งเสริมการลดใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้พลังงานและการใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง