นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ อย. อนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น คณะผู้เชี่ยวชาญได้ประเมินด้านความปลอดภัย ซึ่งจะพิจารณาผลการศึกษาในสัตว์ทดลอง และความปลอดภัยในคน เช่น ขนาดโดสที่ใช้ ระยะเวลาการให้วัคซีน ด้านคุณภาพ จะครอบคลุมทั้งการควบคุมคุณภาพการผลิต ตัวยาสำคัญ กระบวนการผลิต มาตรฐานสถานที่ผลิตวัคซีนตามมาตรฐาน GMP ซึ่งทุกขั้นตอนต้องมีการประกันคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ และด้านประสิทธิผลของวัคซีน ต้องผ่านการวิจัยในคน โดยพิจารณาประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีน (Risk-benefit analysis) รวมถึงการติดตามผลข้างเคียงและการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
สำหรับวัคซีนของไฟเซอร์ที่ได้รับการอนุญาตในกลุ่มเด็ก 5 - 11ปี ในไทยนั้น สอดคล้องกับรายการวัคซีนฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO Emergency Use List) และหลายประเทศทั่วโลกที่มีการอนุมัติในภาวะฉุกเฉิน เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ทั้งนี้ ขนาดการใช้วัคซีนลดลงเหลือ 10 ไมโครกรัม (1 ใน 3 ของขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่) จากข้อมูลในต่างประเทศพบการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียง 1.2 รายในล้านโดสที่ฉีดและไม่มีผู้ใดเสียชีวิต สำหรับในประเทศไทยพบเพียง 1.1 รายในล้านโดสที่ฉีดและไม่มีผู้เสียชีวิตเช่นเดียวกัน
"ขอให้มั่นใจว่าวัคซีนทุกตัวที่อนุญาตมีความปลอดภัย มีคุณภาพ และมีประสิทธิผล ซึ่งจะส่งผลให้ลดความสูญเสียจากการติดเชื้อโควิด-19" นพ.ไพศาล กล่าว