อียูยอมรับข้อเสนอวิธีกำจัดแมลงวันผลไม้ ดันส่งออก 5 พืช-ผลไม้ไทยไม่สะดุด

ข่าวทั่วไป Tuesday April 12, 2022 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่สหภาพยุโรปมีการปรับกฎระเบียบ Regulation (EU) 2019/2072 ใหม่ กำหนดให้มีผลบังคับใช้วันที่ 11 เม.ย. 65 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกพืช 5 ชนิดจากประเทศไทยได้แก่ พริก มะเขือ มะละกอ ฝรั่ง และน้อยหน่า จากเดิมที่เน้นการตรวจศัตรูพืชที่แปลงผลิต โรงคัดบรรจุ และหน้าด่านตรวจพืชก่อนการส่งออก แต่กฎระเบียบใหม่กำหนดให้ประเทศไทย หรือทุกประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกของสหภาพยุโรป และมีรายงานการแพร่ระบาดของแมลงวันผลไม้ในสกุล Bactrocera ชนิดที่สหภาพยุโรปกำหนดจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ที่ประกาศใช้ดังกล่าว

กรมวิชาการเกษตร ได้จัดประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายกลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชรีบจัดทำข้อมูล เสนอให้คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยอาหาร (DG SANTE) พิจารณาพร้อมเร่งประสานกับสหภาพยุโรป

ในส่วนของวิธีการที่ประเทศไทยเลือก คือ พืช 4 ชนิดได้แก่ พริก มะเขือ น้อยหน่า และฝรั่ง เสนอใช้วิธีการ Systems approach for pest risk management of fruit flies (Tephritidae) โดยบริหารจัดการตั้งแต่ในสวน การขนส่งจากแปลงไปโรงคัดบรรจุ และการบริหารจัดการในโรงคัดบรรจุ รวมทั้งการรับรองสุขอนามัยพืชก่อนการส่งออก

ส่วนมะละกอ เสนอใช้วิธีการเก็บเกี่ยวที่ระยะเวลา 90-120 วัน หลังดอกบาน และมะละกอสุก จะต้องผ่านการแช่น้ำร้อน หรือผ่านการอบไอน้ำปรับสภาพความชื้นสัมพัทธ์ก่อนการส่งออก

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้ลงนามในหนังสือแจ้งให้ DG SANTE พิจารณาเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 65 ได้มีการประสานงานกับสำนักที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงบรัสเซลส์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อระยะเวลาที่กฎระเบียบของอียูจะมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ ได้รับแจ้งข่าวในวันที่ 11 เม.ย. 65 ว่า สหภาพยุโรปรับพิจารณาข้อมูลของประเทศไทยแล้ว ส่งผลให้เกษตรกรผู้ส่งออก สามารถส่งออกพืชทั้ง 5 ชนิดได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้เงื่อนไขที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด

"ขอขอบคุณ DG SANTE ที่พิจารณาข้อมูลจากประเทศไทยอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ประเทศไทยจะต้องดำเนินการส่งออกพืชทั้ง 5 ชนิด ให้เป็นไปตามแนวทางที่ได้เสนอไว้ตามมาตรฐานสากลด้านกักกันพืช และสอดคล้องกับระเบียบของประเทศปลายทางผู้นำเข้า โดยในปี 64 ที่ผ่านมามีการส่งออกพืชทั้ง 5 ชนิดไปสหภาพยุโรปปริมาณ 620 ตัน คิดเป็นมูลค่า 23.25 ล้านบาท" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ