นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่ให้บริการขนส่งสาธารณะเตรียมพร้อมรองรับการเดินทางกลับของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 พร้อมกำชับเน้นพิเศษเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยขั้นสูงสุด เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยยึดหลัก "เดินทางสะดวก ปลอดภัย ห่างไกล COVID-19" ดังนี้
1. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)
- กำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยมีมาตรการตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะและพนักงานขับรถ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร และจุดจอด จุดตรวจ Checking Point และ Rest Area รวม 205 จุด ทั่วประเทศ
- ดำเนินการติดตามตรวจสอบการเดินรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกด้วยระบบ GPS Tracking ผ่านศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบ GPS และตรวจสอบการใช้ความเร็วรถโดยสารและรถบรรทุก ด้วยกล้องเลเซอร์
- ประสานผู้ประกอบการขนส่งจัดเตรียมรถโดยสารและรถเสริมให้เพียงพอกับความต้องการ เพื่อไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง รถโดยสารรวมถึงรถเสริมที่ให้บริการในเส้นทางทุกคันต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะพนักงานขับรถต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่มีสารเสพติดและระดับแอลกอฮอล์ต้องเป็นศูนย์ ต้องมีใบอนุญาตขับรถที่ถูกต้องตามประเภท รูดบัตรยืนยันตัวตนในระบบ GPS ก่อนขับขี่ และใช้ความเร็วเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เส้นทางไกลขับติดต่อกันไม่เกิน 4 ชั่วโมง ต้องพักอย่างน้อย 30 นาที และขับต่อได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมีความมั่นใจ เดินทางถึงที่หมายปลอดภัย และปราศจากเชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งนี้ หากพบรถโดยสารสาธารณะเอาเปรียบหรือให้บริการไม่ปลอดภัย แจ้งสายด่วน โทร. 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง
2. กรมทางหลวง (ทล.)
- จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศจำนวน 13,117 คน
- เตรียมอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยให้มีความพร้อมในการออกปฏิบัติงาน เมื่อมีอุบัติเหตุหรือมีจราจรติดขัดสะสมบนเส้นทางให้เปิดช่องทางพิเศษ โดยร่วมกับตำรวจทางหลวงและตำรวจท้องที่ในการบริหารสัญญาณไฟจราจรจำนวน 113 แห่ง 16 สายทาง ปิดจุดทางแยก 80 แห่ง 26 สายทาง ปิดจุดกลับรถ 234 แห่ง 47 สายทาง รวมทั้งบริหารจัดการทางเข้า-ออก บริเวณสถานีบริการน้ำมัน จำนวน 24 จังหวัด 69 แห่ง โดยเปิดช่องทางพิเศษทางสายหลักจำนวน 5 สายทางหลัก ทล.1, ทล.2, ทล.204, ทล.32, ทล.348 เพื่อความคล่องตัวในการใช้รถใช้ถนนและช่วยป้องกันอุบัติเหตุบนทางหลวง
- บริหารจัดการโดยนำรถตรวจการณ์ Mobile VMS (MVMS) มาใช้สำหรับบริหารจราจร และอุบัติเหตุ พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบ
- ตรวจสอบสภาพจราจรผ่านเซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพจราจร (Traffic Sensor) และกล้อง CCTV ที่ติดตั้งบนทางหลวง รวมทั้งใช้โดรนในการบินตรวจสอบสภาพจราจร
- ให้บริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนทางหลวงตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE เพียงสแกน QR Code หรือเพิ่มเพื่อน DOH1586
- ให้บริการข้อมูลข่าวสารผ่านสายด่วนกรมทางหลวง โทร. 1586 และสายด่วนตำรวจทางหลวง โทร. 1193 รวมทั้งสื่อทางช่องทางต่าง ๆ ของ ทล. เช่น Twitter Facebook กรมทางหลวง และเฟซบุ๊ก "ศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุกรมทางหลวง"
- ให้บริการแอปพลิเคชันของ ทล. ซึ่งประชาชนผู้ใช้ทางสามารถเข้าติดตามสภาพการจราจรทั้งมุมสูงและกล้อง CCTV แบบ Real Time ตามสายทางผ่านแอปพลิเคชัน ได้แก่ Thailand Highway Traffic M Traffic แอปพลิเคชันติดตามสภาพจราจรแบบ Real Time ท่องทางหลวง (Trips On Thai Highways) สำหรับให้บริการประชาชนผู้ใช้ทางหลวงในการค้นหาจุดที่ตั้ง และรายละเอียดข้อมูลการให้บริการต่าง ๆ ของ ทล. และ DOH to Travel แอปพลิเคชันที่เชื่อมโยงข้อมูลงานทางจากระบบรายงานและติดตามของ ทล. แนะนำเส้นทางพร้อมคำนวณระยะทาง สามารถตรวจสอบสถานที่สำคัญใกล้เคียงรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร พร้อมแจ้งเหตุการณ์ที่พบบนทางหลวง
- ให้บริการแนะนำเส้นทางเลือกบนทางหลวงสายหลักและสายรอง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชน วางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี
3. บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) ได้จัดเตรียมรถให้บริการ จำนวน 4,279 เที่ยว ให้บริการประชาชนได้ 46,258 คน โดยมีการเตรียมความพร้อม ดังนี้
- จัดเจ้าหน้าที่ให้บริการช่วยเหลือด้านการจราจร และพนักงานรักษาความปลอดภัย ดูแลจัดระเบียบชานชาลาตลอดเวลา
- ประสานงานกับศูนย์วิทยุ จส.100 และ สวพ.91 ประชาสัมพันธ์ไปยังรถแท็กซี่ เพื่อเข้ามาให้บริการประชาชนอย่างเพียงพอ ในสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ แต่ละแห่ง
4. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้จัดเตรียมรถไฟให้บริการ จำนวน 83 เที่ยว ให้บริการประชาชนได้ 26,855 คน โดยมีการเตรียมความพร้อม ดังนี้
- จัดเดินขบวนรถพิเศษเพิ่ม 5 ขบวน ในวันที่ 16 - 17 เมษายน 2565
- เพิ่มตู้โดยสารโดยเฉพาะขบวนรถด่วน รถเร็ว ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2565 ขบวนละ 1 - 2 ตู้ หรือให้เต็มหน่วยลากจูง
5. บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. ได้จัดเตรียมรถให้บริการ จำนวน 471 เที่ยว (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 260 เที่ยว และท่าอากาศยานดอนเมือง 211 เที่ยว) ให้บริการประชาชนได้ 54,519 คน (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 28,388 คน และท่าอากาศยานดอนเมือง 26,131 คน) โดยมีการเตรียมความพร้อม ดังนี้
- ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่) Carpool Taxi คลังสินค้าจอดได้ 225 คัน จุดพักคอย Taxi จอดได้ ประมาณ 100 คัน และอาคาร 2 Stand by ได้ 20 คัน
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) จัดเตรียมรถ Shuttle Bus ให้บริการภายใน ทสภ. เพื่อไปยังอาคารต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก รวดเร็ว โดยให้บริการอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 รวมทั้งเตรียมความพร้อมของการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) และได้เพิ่มจุดการให้บริการรถรับจ้างสาธารณะ (รถแท็กซี่) อีกจำนวน 1 จุด บริเวณชั้น 2 ประตู 10 อาคารผู้โดยสาร ซึ่งเป็นรถแท็กซี่ที่เข้าร่วมโครงการ Alternative Quarantine (AQ)
6. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้เตรียมพร้อมรถให้บริการ จำนวน 15,592 เที่ยว ให้บริการประชาชนได้ 396,296 คน โดยมีการเตรียมความพร้อม ดังนี้
จัดเดินรถเชื่อมต่อสถานีขนส่งกรุงเทพ 5 สถานี จำนวน 36 เส้นทาง
- สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) จำนวน 11 เส้นทาง 1,752 เที่ยววิ่งต่อวัน ได้แก่ สาย 3, 16, 77, 96, 134, 136, 138 ,145, 509, 517 และ 536
- สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) จำนวน 6 เส้นทาง 935 เที่ยววิ่งต่อวัน ได้แก่ สาย 66, 79, 511, 515, 516 และ 556
- สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) จำนวน 8 เส้นทาง 898 เที่ยววิ่งต่อวัน ได้แก่ สาย 2, 23, 25, 71, 72, 501, 508 และ 511
- สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) จำนวน 6 เส้นทาง 863 เที่ยววิ่งต่อวัน ได้แก่ สาย 4, 21, 25, 34, 73 และ 501
- สถานีรถไฟกรุงเทพ (สถานีกลางบางซื่อ) จำนวน 2 เส้นทาง 167 เที่ยววิ่งต่อวัน ได้แก่ สาย 49 และ 67
- สาย A1 ท่าอากาศยานดอนเมือง - รถไฟฟ้า BTS จตุจักร จัดเดินรถเฉลี่ยวันละ 16 คัน
- สาย A2 ท่าอากาศยานดอนเมือง - อนุสาวรีย์ชัย จัดเดินรถเฉลี่ยวันละ 12 คัน
- สาย A3 ท่าอากาศยานดอนเมือง - สวนลุมพินี จัดเดินรถเฉลี่ยวันละ 8 คัน
- สาย A4 ท่าอากาศยานดอนเมือง - สนามหลวง จัดเดินรถเฉลี่ยวันละ 8 คัน
- สาย S1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - สนามหลวง จัดเดินรถเฉลี่ยวันละ 4 คัน