นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย มีแนวโน้มการรายงานผู้ติดเชื้อยืนยันลดลงในช่วงสงกรานต์ ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักที่กำลังรักษาอยู่ขณะนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับที่ผู้ป่วยเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลจากช่วงก่อนสงกรานต์ ที่มีการแพร่ระบาดโรคในกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยหนัก ทั้งผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง (กลุ่ม 607) จำนวนมาก ประกอบกับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน หรือไม่ครบ หรือเกิน 3 เดือน
"ผู้เสียชีวิตส่วนมากเป็นผู้สูงอายุที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ และยังไม่ได้รับเข็มบูสเตอร์ ซึ่งการฉีดวัคซีน 2 เข็มนั้น สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ 5 เท่า ส่วนการฉีดวัคซีน 3 เข็มนั้น สามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ถึง 31 เท่า ดังนั้น ขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์เร่งฉีดวัคซีนโดยเร็ว นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังกลุ่มที่จะมีการรวมตัวกันมากๆ เช่น โรงเรียน โรงงาน และค่ายทหารด้วย" นพ.จักรรัฐ กล่าว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นไปตามที่คาดการณ์ว่าช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ จำนวนผู้ติดเชื้อจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นแตะที่ระดับ 100,000 คน/วัน หรือไม่นั้น ต้องติดตามช่วงหลังสงกรานต์ 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากในช่วงสงกรานต์มีการเดินทาง การรวมตัวกัน และมีการจัดกิจกรรมร่วมกันจำนวนมาก ซึ่งล่าสุด มีรายงานพบคลัสเตอร์การแพร่ระบาดขนาดเล็กแล้ว
สำหรับการวางแผนให้โรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่นในวันที่ 1 ก.ค. 65 นั้น จะต้องดูปัจจัยต่างๆ โดยเน้นเรื่องอัตราการครองเตียงเป็นหลัก หากสามารถรองรับได้เพียงพอ และสถานการณ์การติดเชื้อเป็นไปตามที่คาดการณ์ในฉากทัศน์ ก็คาดว่าจะสามารถปรับให้เป็นโรคประจำถิ่นได้ตามแผน ในส่วนของการรองรับผู้ป่วยอาการหนักทั้งสีเหลือง และสีแดง ได้มีการเตรียมเพิ่มจำนวนเตียงในบางพื้นที่ที่มีเตียงไม่พอแล้ว
นพ.จักรรัฐ กล่าวถึงการสื่อสารมาตรการป้องกันควบคุมโรค ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ด้วยมาตรการต่างๆ ดังนี้
- Self Clean-up ช่วงเดินทางกลับหลังเทศกาลสงกรานต์ เน้นมาตรการทำงานที่บ้าน (Work From Home: WFH) 5-7 วัน และตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ผลเป็นลบ ก่อนกลับเข้าที่ทำงาน หรือร่วมกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก
- Universal Prevention จำเป็นต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ขณะต้องใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงวัย เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง รวมทั้งงดการทานอาหาร หรือเครื่องดื่มร่วมกับผู้สูงวัย หากจำเป็นให้ใช้เวลาน้อยที่สุด
- Universal Vaccination ฉีดวัคซีนทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้สูงวัย และกลุ่มโรคเรื้อรัง ให้ได้รับวัคซีนหลังเทศกาลสงกรานต์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยป้องกันอาการรุนแรงหากติดเชื้อ และมีภาวะ Long Covid ด้วย