สศก. เผยปีนี้ปริมาณผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออกเกือบ 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 32%

ข่าวทั่วไป Wednesday April 20, 2022 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางศศิญา ปานตั้น ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสรุปข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคตะวันออก ปี 65 (ข้อมูล ณ 11 เม.ย. 65) โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ ภาคตะวันออก สรุปตัวเลขเอกภาพปริมาณผลผลิตของไม้ผล 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี ตราด) พบว่า ผลผลิตรวมทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 1,189,522 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 64 ที่มีจำนวน 903,865 ตัน เพิ่มขึ้น 32%

ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น และมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 64 ส่งผลให้เอื้อต่อการออกดอกและติดผล แม้จะมีภัยธรรมชาติจากลมพายุช่วงปลายปี 64 และเดือนก.พ.-มี.ค. 65 ที่ทำให้ดอกและลูกร่วงเสียหาย แต่ในภาพรวมปริมาณผลผลิตยังคงมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยผลผลิตได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนก.พ. ที่ผ่านมา และจะออกต่อเนื่องจนถึงกลางเดือนก.ย. 65 โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนพ.ค. 65 คิดเป็น 51% ของผลผลิตทั้งหมด

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาปริมาณผลผลิตรายชนิด พบว่า ทุเรียน มังคุด เงาะ ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยมังคุด เพิ่มขึ้นมากที่สุด 108% รองลงมา ทุเรียน เพิ่มขึ้น 26% และเงาะ เพิ่มขึ้น 9% เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้มีความเหมาะสมต่อการออกดอกและติดผลของไม้ผลมากกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับอายุต้นที่เพิ่มขึ้นและสภาพความพร้อมของต้น ในขณะที่ ลองกอง ผลผลิตลดลง 6% เนื่องจากปัญหาราคาตกต่ำในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา และโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดปลายทางประเทศเวียดนามมียอดรับซื้อค่อนข้างน้อย การดูแลเอาใจใส่จึงน้อยกว่าพืชอื่น

ด้านผลผลิตต่อไร่ ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้เลี้ยงต้น ดอกและผลผลิต ช่วงอายุต้นให้ผลผลิตสูง เกษตรกรเอาใจใส่ดูแลรักษามากขึ้น โดยมังคุดมีปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นมากที่สุด 115% เนื่องจากการไม่ติดผลในปีที่ผ่านมา ทำให้ได้พักต้นสะสมอาหาร จึงออกดอกและติดผลเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา รองลงมา ทุเรียน เพิ่มขึ้น 21% เงาะ เพิ่มขึ้น 13% และลองกอง เพิ่มขึ้น 4%

สำหรับสถานการณ์การผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ขณะนี้ ทุเรียนออกดอกแล้ว 100% เริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนก.พ. ที่ผ่านมา ทุเรียนที่เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงแรก คือทุเรียนพันธุ์กระดุมและหมอนทองบางส่วน โดยทุเรียนทยอยออกสู่ตลาดจนถึงปลายเดือนก.ค. 65 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพ.ค. ถึงกลางเดือนมิ.ย. 65

ส่วนมังคุด ออกดอกแล้ว 99% เริ่มเก็บเกี่ยวได้เล็กน้อยตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา และต่อเนื่องถึงต้นเดือนก.ค. 65 ปีนี้ มังคุดออกดอกติดผลเพิ่มขึ้นมากและมีหลายรุ่น ผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงกลางเดือนพ.ค. ถึงกลางเดือนมิ.ย. 65

ในส่วนของเงาะ ออกดอกแล้ว 99% เริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย. ถึงต้นเดือนส.ค. 65 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงกลางเดือนพ.ค. ต่อเนื่องถึงต้นเดือนมิ.ย. 65

ขณะที่ลองกอง ออกดอกแล้ว 70% ส่วนใหญ่อยู่ในระยะทยอยตั้งช่อออกดอกและเริ่มติดผลแก่บ้างเล็กน้อย ปีนี้ออกดอกล่าช้าเนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง จึงมีระยะการติดผลที่ค่อนข้างห่างในแต่ละรุ่น ช่อดอกยาวสมบูรณ์ได้น้ำหนักดี ทำให้ได้ผลผลิตลูกโต จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายเดือนเม.ย. ถึงกลางเดือนก.ย. 65 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงปลายเดือนมิ.ย. ถึงกลางเดือนก.ค. 65

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ ในปี 65 ทั้ง 3 จังหวัด ได้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนไว้ 4 พันธุ์ ดังนี้ พันธุ์กระดุม เก็บเกี่ยวได้วันที่ 20 มี.ค. 65 พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี เก็บเกี่ยวได้วันที่ 10 เม.ย. 65 และพันธุ์หมอนทอง เก็บเกี่ยวได้วันที่ 25 เม.ย. 65

อย่างไรก็ดี หากจะเก็บเกี่ยวทุเรียนก่อนวันกำหนด เกษตรกรและคนรับจ้างตัดทุเรียนต้องแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ โดยนำตัวอย่างผลผลิตมาตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนอย่างน้อย 2 วันก่อนเก็บเกี่ยว หรือล้งส่งออกต้องแจ้งด่านตรวจพืชจันทบุรี หรือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) จังหวัดจันทบุรี เพื่อสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนปิดตู้ส่งออก

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้กำหนดค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน สำหรับพันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27% ของน้ำหนักแห้ง พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า 30% ของน้ำหนักแห้ง พันธุ์หมอนทอง ไม่น้อยกว่า 32% ของน้ำหนักแห้ง หากต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ซึ่งผู้ใดจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 และความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47

นอกจากนี้ เน้นการควบคุมคุณภาพสินค้าตามมาตรฐาน GAP-Plus การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม การป้องกันโรคโควิด-19 ในระดับสวนเกษตรกร และมาตรฐาน GMP-Plus การปฏิบัติในโรงคัดบรรจุที่ดีของล้งส่งออก ให้เป็นที่ยอมรับและสร้างความมั่นใจ เพื่อรองรับการตรวจสอบตามนโยบาย Zero Covid ของประเทศจีนอย่างเข้มงวดในสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ

สำหรับแนวทางการกระจายผลผลิตในประเทศ มีทั้งโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ เพื่อยกระดับราคาไม่ให้ตกต่ำ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมหารือแนวทางการยกระดับผลผลิตเข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรด ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ และบริษัทไปรษณีย์ไทย เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายผลผลิตภายในประเทศ ช่วยส่งเสริมพัฒนาและเชื่อมโยงการตลาดให้แก่เกษตรกร อีกทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะช่วยกระจายผลผลิตในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก ให้กับผู้บริโภคโดยตรง และโครงการจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สด แปรรูปและผลิตภัณฑ์อื่นๆ

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 (สสก.3) จังหวัดระยอง ได้นำข้อมูลเอกภาพนี้ ไปบริหารจัดการในการจัดตั้งวอร์รูมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ ทั้งปริมาณการออกสู่ตลาด และราคาขายรายวัน โดยเริ่มรายงานตั้งแต่ 18 เม.ย. 65 เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ