นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวก่อนการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า มาตรการที่ที่ประชุม ศบค.จะพิจารณายกเลิกในวันนี้ ต้องดูตามสถานการณ์ ซึ่งจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดขณะนี้มีไม่มาก อัตราการครองเตียง 25% ถือว่าน้อยมาก และมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ดังนั้น สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงขาลง และดีกว่าที่คิดเอาไว้ แม้หลายคนจะกังวลตัวเลขอัตราการเสียชีวิต แต่หากเปรียบเทียบผู้ติดเชื้อกับอัตราการเสียชีวิต เฉลี่ยต่ำกว่า 0.1% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้มาก แต่หากจะให้ชัวร์ต้องพ้นระยะฟักตัว 14 วันไปแล้ว คือ ช่วงสิ้นเม.ย.- ถึงต้นพ.ค.
ทั้งนี้ หากดูมิติทางเศรษฐกิจ พบว่าประเทศไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน และหากช้าไปอีก 1-2 เดือน จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส ดังนั้นจึงเห็นว่าควรเร่งดำเนินมาตราการผ่อนคลาย โดยเริ่มในวันที่ 1 พ.ค.นี้เลย
นพ.อุดม กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศนั้น เห็นควรให้ยกเลิกการตรวจ RT-PCR ไปเลย แต่จะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 3 เข็ม ซึ่งเป็น Full vaccination ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และให้ตรวจด้วย ATK 1 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมงแทน แต่ผู้ที่เดินทางจะต้องลงทะเบียนใน Thailand pass เพื่อรายงานผลการตรวจ และให้เริ่ม 1 พ.ค.นี้ ส่วนผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย แต่ได้รับวัคซีนไม่ครบ จะต้องกักตัว 5 วัน แต่ถ้าไม่ได้เคยรับวัคซีนป้องกันโควิดมาเลย จะต้องถูกกักตัว 14 วัน
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ศบค.จะหารือถึงกรณีการยกเลิกหรือลดวงเงินประกันสำหรับนักท่องเที่ยวเหลือ 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เนื่องจากพิจารณาจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ มีอัตราการติดเชื้อเพียง 0.5% ดังนั้นจึงควรจะผ่อนคลายมาตรการ เพราะไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจได้
นพ.อุดม กล่าวด้วยว่า หากจะเปิดทุกอย่างทั้งหมด สิ่งที่ตนกังวล คือ ผู้ป่วยอาการรุนแรง แม้ว่าจะมีไม่มาก แต่ก็ไม่อยากให้เสียชีวิต และมียาตัวใหม่ที่ได้ผลจริงๆ คือ โมโนพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิค ซึ่งตนได้กระตุ้นให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำเข้ามา เพราะมีการรักษาโควิดได้ผลดีกว่ายาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้อนุมัติในหลักการไปแล้ว แต่เรื่องของกระบวนการพบว่ายังล่าช้าอยู่ ซึ่งต้องพยายามเร่งนำเข้ามาให้ได้
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ยาโมโนพิราเวียร์ มีราคาถูกลงเหลือเพียงคอร์สละ 800 บาท เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ผลิต ส่วนยาแพกซ์โลวิดกำลังเจรจากัน อยู่ในขั้นตอนของการปรับจากการจองวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าไว้ จะขอสลับเป็นยาแพกซ์โลวิดในบางส่วน เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ
นพ.อุดม ยังได้ย้ำให้ผู้ปกครองพาเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเพื่อรับเปิดเทอมในเดือนพ.ค. และลดความกังวลต่อการติดเชื้อและเจ็บป่วยรุนแรง เพราะจำเป็นต้องเปิดเรียนในสถานศึกษาตามปกติ ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาส
ส่วนกรณีที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีการหาเสียงว่าหากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะเสนอมาตรการให้ประชาชน ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยนั้น นพ.อุดม ระบุว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะการสวมหน้ากากอนามัยยังจำเป็น และสามารถป้องกันได้โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
"มาตรการอะไร จะไม่ดำเนินการนั้น ผมไม่ว่า แต่เรื่องสวมหน้ากากอนามัย ยังจำเป็นอยู่" นพ.อุดม กล่าว