นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันนี้ เห็นชอบการปรับพื้นที่สีหรือแบ่งโซนในการควบคุมโรคโควิด ยกเลิกพื้นที่สีแดง (พื้นที่ควบคุมสูงสุด) และสีส้ม (พื้นที่ควบคุม) โดยปรับพื้นที่สีเหลือง (เฝ้าระวังสูง) เพิ่มเป็น 65 จังหวัด จากเดิม 47 จังหวัด ส่วนพื้นที่สีฟ้า (นำร่องการท่องเที่ยว) เพิ่มเป็น 12 จังหวัด จากเดิม 10 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ยังคงไม่อนุญาตให้เปิดบริการสำหรับสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะในทุกพื้นที่ ส่วนการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหารนั้น ศบค.ขยายเวลาให้สามารถดื่มได้ถึงเที่ยงคืน จากปัจจุบันที่ไม่เกิน 23.00 น. โดยเริ่มมีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.เช่นกัน
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ศบค. ยังเห็นชอบการปรับมาตรการสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยลดวันกักตัวอยู่ที่บ้าน 7 วัน และสังเกตอาการ 3 วัน มาเป็นกักตัวเหลือ 5 วัน และสังเกตอาการ 5 วัน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. ยังมีมติเห็นชอบปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ โดยผู้ที่เดินทางที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ให้มีการยกเลิกการตรวจเมื่อมาถึง และแนะนำให้ตรวจ Self-ATK ระหว่างพำนัก ซึ่งหากพบเชื้อให้เข้าสู่กระบวนการตามประกันภัย หรือตามความรับผิดชอบของบุคคล
ส่วนกรณีที่ไม่ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ หรือได้รับแต่ไม่ครบตามเกณฑ์ สามารถยื่นหลักฐานผลตรวจ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทางถึงประเทศไทย และลงทะเบียนแสดงหลักฐานในระบบ Thailand Pass ก็สามารถเดินทางเข้าประเทศได้เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือหากต้องมีการกักตัวตามระบบ AQ ให้มีการตรวจ RT-PCR ในวันที่ 4-5 นอกจากนี้ ศบค. ยังได้ปรับลดวงเงินประกันสำหรับผู้เดินทางทั้ง 2 กลุ่ม จากเดิมไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นเหรียญฯ เป็นไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นเหรียญฯ
สำหรับผู้ที่เดินทางผ่านช่องทางทางบก กระทรวงมหาดไทยจะเปิดให้เฉพาะจุดผ่านแดนถาวร ในกรณีผู้มีสัญชาติไทย ถ้ามีเอกสารฉีดวัคซีนครบสามารถเดินทางเข้าประเทศได้เลยโดยไม่ต้องกักตัว ส่วนกรณีที่ไม่ได้วัคซีน ให้กักตัว SQ หรือ AQ เป็นเวลา 5 วัน หรือตามที่ราชการกำหนด
ส่วนผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย สำหรับผู้เดินทางแบบระยะยาว พำนักในไทยมากกว่า 3 วัน หากฉีดวัคซีนครบไม่ต้องกักตัว แต่กรณีหากฉีดวัคซีนไม่ครบ ให้กักตัว 5 วัน และสำหรับผู้เดินทางแบบระยะสั้น พำนักในไทยไม่เกิน 3 วัน ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบจึงจะสามารถเดินทางเข้าไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. ยังได้เห็นชอบการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข สำหรับการเปิดภาคเรียนในเดือนพ.ค.นี้ ในภาคเรียนที่ 1/2565 เนื่องจากได้เห็นการติดเชื้อในเด็กตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 16 เม.ย.นี้ โดยเมื่อนำตัวเลขผู้ติดเชื้อ โควิด-19 สะสมทุกกลุ่มอายุ เปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 อายุ 0-19 ปี ยังมีตัวเลขต่ำและไม่มาก ส่วนผู้เสียชีวิต เปรียบเทียบตามช่วงอายุ 0-5 ปี ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 28 ราย และ 6-18 ปี ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 17 ราย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. อยากให้เด็กเรียนปลอดภัยแบบออนไซด์ โดยจะต้องให้เด็กฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 3 เข็มในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ซึ่งหากพบว่ามีเด็กนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 และเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็ให้แยกออกไป
นอกจากนี้ โรงเรียนประจำและโรงเรียนไป-กลับ กรณีครู นักเรียน หรือบุคลากรเป็นผู้เสี่ยงต่ำ ให้เว้นระยะห่างของนักเรียนในห้องไม่ต่ำกว่า 1 เมตร แต่หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้มีการจัดการเรียนการสอนตามมาตรการ Sandbox Safety Zone in School เป็นเวลา 5 วัน และให้ติดตามสังเกตอาการอีก 5 วันในโรงเรียนประจำ ส่วนโรงเรียนไป-กลับ กรณีครูหรือบุคลากรเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้แยกกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 5 วัน และให้ติดตามสังเกตอาการอีก 5 วัน
ทั้งนี้ สถิติการฉีดวัคซีนของเด็กอายุ 5-11 ปี เป้าหมายอยู่ที่ 5.1 ล้านคน แต่ได้รับเข็มที่หนึ่งไป 2.5 ล้านคน หรือ 50% เข็มที่สอง 0.29 ล้านคน และเข็มสามยังไม่ได้ ขณะที่อายุ 12-17 ปี ตั้งเป้า 4.7 ล้านคน เข็มที่หนึ่ง 4.3 ล้านคน เข็มที่สอง 3.9 ล้านคน เข็มที่สาม 7.7 ล้านคน ฉะนั้นจึงต้องมีการเพิ่มในเรื่องการฉีดวัคซีน
สำหรับแผนให้บริการวัคซีนในปี 2565 ตั้งเป้าอายุ 5 ปีขึ้นไป เพื่อให้ครอบคลุมการฉีดวัคซีนและให้สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ นอกจากนี้ พบว่าการฉีดวัคซีนขนาด 15 ไมโครกรัมหรือขนาด 30 ไมโครกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จากผลการศึกษาพบว่า ระบบภูมิคุ้มกันชนิดลบล้างฤทธิ์ต่อเชื้อโอมิครอน อยู่ในเกณฑ์ดีมากทั้งการฉีดกระตุ้นขนาดเต็มโดสและครึ่งโดส จึงขอให้ผู้ปกครองสบายใจได้ว่าสามารถขอฉีดครึ่งโดสได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ศบค.ยังเห็นชอบแผนบริจาควัคซีนให้ต่างประเทศ โดยจะบริจาควัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ให้กับประเทศเอธิโอเปีย จำนวน 1 ล้านโดส ประเทศอัฟกานิสถาน 5 แสนโดส และประเทศยูกันดา 5 แสนโดส รวมถึงประเทศไทยยังรับบริจาควัคซีนโนวาแวกซ์ จากประเทศอินเดีย 2 แสนโดส โดยมีการรับมอบไปแล้วในวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา
พร้อมทั้งเห็นชอบความคืบหน้าการพิจารณาข้อบ่งใช้ Long Acting Antibody (LAAB) ซึ่งเป็นวัคซีนพร้อมใช้ โดยจะฉีดเฉพาะคนกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบและแพ้ภูมิตนเอง ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำอื่นๆ เช่น ผู้ป่วย HIV ประมาณ 5 แสนราย โดยใช้งบประมาณที่เคยอนุมัติไปแล้วในกรอบการจัดซื้อวัคซีน