สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในหัวข้อ "การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในสายตาคนกรุงเทพฯ" โดยเมื่อถามคนกรุงเทพฯ ถึงการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 พบว่า กลุ่มตัวอย่างมากถึง 82.20% ตอบว่าไปแน่นอน ส่วนอีก 11.86% ตอบว่าคงจะไป โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 4.32% ตอบว่าไม่แน่ใจ และที่เหลืออีก 1.62% ตอบว่าคงจะไม่ไป
สำหรับการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พบว่า อันดับ 1 ติดตามจากโทรทัศน์ อันดับ 2 ติดตามจากป้ายโปสเตอร์ ป้ายประกาศ ป้ายหาเสียง และอันดับ 3 ติดตามจากเพจเฟซบุ๊ค
เมื่อถามว่าคนกรุงเทพฯ ให้ความสนใจผู้สมัครแบบใด ระหว่างผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง กับผู้สมัครอิสระ พบว่า อันดับ 1 ตอบว่า ผู้สมัครอิสระ 56.11% อันดับ 2 ตอบว่า ผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง 29.58% และอันดับ 3 ตอบว่า ยังไม่ตัดสินใจ 14.31%
ทั้งนี้ คนกรุงเทพฯ จะตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. จากสาเหตุใดนั้น อันดับ 1 ตอบว่า มีนโยบายดี อันดับ 2 ตอบว่า ขยัน ตั้งใจทำงาน และอันดับ 3 ตอบว่า ภาพลักษณ์ดี นิสัยดี ประวัติดี
เมื่อถามว่า การหาเสียงของผู้สมัครในปัจจุบันส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกมากน้อยเพียงใด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 43.54% ตอบว่ามีผลมาก รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 38.30% ตอบว่าค่อนข้างมีผล ขณะที่กลุ่มตัวอย่างอีก 14.16% ตอบว่าไม่ค่อยมีผล และที่เหลืออีก 4.00% ตอบว่าไม่มีผล
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าคนกรุงเทพฯ ชื่นชอบผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนใดมากที่สุด พบว่า
อันดับ 1 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 39.94%
อันดับ 2 อัศวิน ขวัญเมือง 14.16%
อันดับ 3 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 13.37%
อันดับ 4 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร 10.00%
อันดับ 5 ศิธา ทิวารี 4.01%
อันดับ 6 สกลธี ภัททิยกุล 3.09%
อันดับ 7 รสนา โตสิตระกูล 1.94%
อันดับ 8 ผู้สมัครอื่น ๆ 1.47%
ขณะที่พบว่ามีผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจ 12.02%
สุดท้าย เมื่อถามว่าคนกรุงเทพฯ คิดว่าคะแนนนิยมจากการทำโพลสำนักต่าง ๆ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 64.79% ตอบว่าไม่มีผล ขณะที่อีก 35.21% ตอบว่ามีผล
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 2,522 คน (สำรวจด้วยการเก็บข้อมูลภาคสนามและออนไลน์) ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 12-28 เมษายน 2565