นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยกำลังรักษาลดลง รวมทั้งผู้ป่วยหนักเริ่มมีแนวโน้มลดลงในหลายจังหวัด ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุวัย 70 ปีขึ้นไป
ดังนั้นจึงให้มีการปรับการรายงานผู้เสียชีวิต เฉพาะที่มีสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เริ่มเดือนพฤษภาคม 65 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ รวมทั้งปรับให้มีระบบการรายงานโรคในส่วนของ MIS_C, MIS_A ซึ่งเป็นอาการหลังโควิดโดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก จึงให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า จังหวัดส่วนใหญ่ของประเทศเริ่มมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อลดลง ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากระยะ plateau เข้าสู่ระยะ Declining ตามเกณฑ์พิจารณาเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic ฉะนั้นทุกจังหวัดจำเป็นต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post pandemic (Endemic approach) เพื่อให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคสังคม ดำเนินการปรับแผน โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว เพื่อหากมีการระบาดระลอกใหม่ ก็จะได้มีแผนรองรับ โดยให้เร่งดำเนินการมาตรการ "2U" และ "3พ" ได้แก่ มีเตียงเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันมีอัตราครองเตียง 23% , ยาเวชภัณฑ์และวัคซีนมีเพียงพอ และ มีหมอเพียงพอ
ทั้งนี้ มาตรการสาธารณสุข ได้แก่การเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% , ปรับระบบการเฝ้าระวัง เน้นการระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ ,ผ่อนคลายมาตรการสำหรับเดินทางจากต่างประเทศ , ปรับแนวทางแยกกักผู้ป่วยและกักกันผู้สัมผัส
มาตาการทางการแพทย์ อาทิ การปรับแนวทงดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอก , ดูแลผู้ป่วยที่เสี่ยงอาการรุนแรงและมีอาการรุนแรง, ดูแลผู้มีภาวะ Long Covid และอัตราการครองเตียงของผู้ป่วยอาการปานกลางถึงหนักน้อยกว่า 25%
ส่วนมาตรการกฎหมายและสังคม ให้บริหารจัดการด้านกฎหมายในทุกหน่วยงานให้สอดคล้องกับการปรับตัวเข้าสู่ Post pandemic , ผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ลดจำกัดการเดินทางและการรวมตัวของคนหมู่มาก และดำเนินการส่งเสริมมาตรการ Universal Prevention และ Covid Free Setting
ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ควรศึกษาสร้างความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อขั้นสูงสุด หรือ UP (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด ขณะที่หน่วยงาน หรือองค์กรควรมีการจัดการสถานที่ทำงาน สถานที่ให้บริการประชาชน ให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่นจัดให้ลดความแออัด มีจุดให้บริการเจลแอลกอฮออล์ เพื่อทำให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น