นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีขบวนการลักลอบนำเข้าหมูจากประเทศเพื่อนบ้านในหลายจังหวัด โดยเฉพาะแถบภาคอีสาน เพื่อนำมาขายปะปนกับหมูไทย ทำให้ประชาชนต้องเสี่ยงกับการได้รับสารเร่งเนื้อแดง และสารปนเปื้อนอื่นๆ ในเนื้อหมูลักลอบที่ไม่รู้แหล่งที่มา ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบโรคตามข้อกำหนด และผิดกฎหมายไทย
ขณะเดียวกัน ยังเสี่ยงกับโรคหมูที่จะติดมากับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะสร้างความเสียหาย และซ้ำเติมวิกฤติในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทยเป็นอย่างมาก ที่สำคัญรัฐต้องสูญเสียรายได้จากสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีตามระบบ
"หมูผิดกฎหมายนี้ สร้างกระทบกับเศรษฐกิจของไทยอย่างที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ เพราะทำให้คนไทยตายผ่อนส่ง คนเลี้ยงหมูตายสนิท และเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ เกษตรกรขอเรียกร้องให้ภาครัฐเข้มงวดกวดขัน และเร่งกวาดล้างขบวนการนี้โดยเร็วที่สุด รวมถึงคนเลี้ยงหมู ผู้บริโภค และประชาชนที่ทราบเบาะแส ช่วยกันชี้เป้าแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อเร่งจับกุมเอาผิดต่อไป" นายสิทธิพันธ์ กล่าว
โดยปัจจุบัน การบริหารจัดการด้านการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) กำลังดำเนินการไปด้วยดี สมาคมผู้เลี้ยงหมูทุกภูมิภาค ทุกจังหวัด ต่างระดมความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ให้ข้อมูลและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการป้องกันโรคตามมาตรฐาน แก่เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศ เพื่อให้กลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และปลอดโรค
"สถานการณ์ต่างๆ กำลังเดินหน้าไปในทางที่ดี แต่กลับมีขบวนการบ่อนทำลายชาติ ด้วยการนำเข้าหมูจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจากประเทศแถบยุโรปเข้ามาเป็นระยะ เพื่อหวังเพียงผลกำไรของตนเอง โดยไม่นึกถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ในด่านชายแดนไทย และฝ่ายปกครอง ต้องเร่งสกัดกั้น และปราบปรามขบวนการนี้ให้สิ้นซากโดยเร็ว" นายสิทธิพันธ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาคพยายามป้องกันโรค ASF และผลักดันให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยกลับมาเลี้ยงหมูรอบใหม่ให้เร็วที่สุด โดยในภาคอีสาน สมาคมฯ ได้เดินหน้าจัดสัมมนาสัญจรในหัวข้อ "หลังเว้นวรรค...จะกลับมาอย่างไรให้ปลอดภัย?" โดยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสัตวแพทย์ของบริษัทเอกชน นำความรู้และเทคนิคการป้องกันโรคมาถ่ายทอดสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย
งานสัมมนาดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วในหลายจังหวัด อาทิ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา และชัยภูมิ เพื่อปูพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อย ที่พร้อมกลับเข้ามาในระบบอีกครั้งได้อย่างมั่นใจ และช่วยเพิ่มซัพพลายหมูในประเทศอย่างรวดเร็ว