HotIssue ฝนถล่มกรุง-น้ำท่วมซ้ำซาก วัดนโยบายรอพิสูจน์ฝีมือผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

ข่าวทั่วไป Wednesday May 18, 2022 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปัญหาน้ำท่วมถือเป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุงเทพฯ ที่รอการแก้ไขมาอย่างยาวนาน จนมีวลีว่า "น้ำท่วมซ้ำซาก" โดยคนกรุงเทพฯมีความหวังว่าผู้ว่า กทม.คนใหม่ ที่กำลังจะได้เห็นหน้าค่าตาภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค.นี้ จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ให้คลี่คลายลงไป มาเทียบนโยบายแก้ปัญหาของ 5 ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

*"ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" เน้นบริหารจัดการน้ำในระดับเส้นเลือดฝอยหรือรายพื้นที่

1. ลดจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วมทันที เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมขังในเส้นทางการสัญจรและการดำเนินชีวิตของประชาชน ระหว่างการก่อสร้างและแก้ไขปัญหาระยะยาว ทบทวนศึกษา เตรียมแผนรับมือ และจัดสรรงบประมาณเร่งรัดให้ดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 9 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมในถนนสายหลักกว่า 48 จุด (ข้อมูลปี 65)

2. แก้ปัญหาพื้นที่ 50 เขตท่วมขังซ้ำซากในย่านที่อยู่อาศัยและย่านพาณิชยกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำใกล้เคียงหรือต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

3. ขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,000 กม. แก้ปัญหาระบบระบายน้ำในระดับเส้นเลือดฝอย (ตรอกซอกซอย) และเชื่อมโยงและยกระดับประสิทธิภาพโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำท่วมให้ทำงานได้ครบวงจร

4. เพิ่มการขุดลอกคลองรองรับฝนทันฤดู คลองสายหลักและคลองเส้นเลือดฝอย (คลองสายรอง ลำกระโดง ลำราง) ที่กระจายตัวอยู่ทั้ง 50 เขต

5. เพิ่มแก้มลิงธรรมชาติเป็นพื้นที่รับน้ำให้กรุงเทพฯ เพื่อให้มีจุดน้ำรอระบาย หรือน้ำท่วมขังในเส้นทางการสัญจรและพื้นที่อยู่อาศัย

6. ปรับปรุงซ่อมแซมแก้ฟันหลอคันกั้นน้ำริมแม่น้ำ และคลองสายหลัก ลดปัญหาจุดน้ำท่วมขัง จากสาเหตุระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหนุนสูงและเอ่อล้นคันกั้นน้ำในจุดเขื่อนฟันหลอทั่วกรุงเทพฯ

7. เซนเซอร์สูบน้ำ ไม่ต้องรอขอกุญแจ

8. ทบทวนแผนการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ ความคุ้มค่าการลงทุน และประสิทธิภาพการแก้ปัญหาน้ำท่วม

*"สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" ชูขุดปล่องรับน้ำไว้ปากซอย ดักน้ำที่ล้นจากถนน

นโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมกทม. แบ่งเป็น 3 ระยะ

1. ระยะเร่งด่วน ใช้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าและประตูระบายน้ำอัตโนมัติ ทำงานประสานกันทันทีในช่วงเวลาฝนตกหนัก และช่วยให้เกิดการไหลเวียนของน้ำในคลอง ในช่วงเวลาปกติ ทำให้น้ำไม่นิ่ง ไม่ตาย ก็ไม่เน่า

2. ระยะกลาง สร้าง "แก้มลิงใต้ดิน" สร้างแหล่งเก็บน้ำใต้ดินเพื่อรองรับน้ำส่วนเกินที่ระบายไม่ทัน ก่อนสูบขึ้นสู่ระบบระบายน้ำเมื่อฝนหยุดตก ที่เก็บน้ำนี้ทำหน้าที่เหมือน "กล่องเก็บน้ำใต้ดิน" โดยมีขนาด 100x50x20 ม. จุน้ำได้ถึง 100,000 ลบ.ม. ซึ่งทำง่ายกว่าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหลายเท่า

ทั้งนี้ กรุงเทพ สามารถทำแก้มลิงใต้ดินได้ 2 ประเภท คือ แก้มลิงใต้ดินขนาดใหญ่ใช้รับน้ำท่วมเป็นวงกว้าง เช่น จตุจักร-หมอชิต-วิภาวดี เก็บรับน้ำเหลือรอระบายได้ถึง 100,000-200,000 ลูกบาศก์เมตร และแก้มลิงใต้ดินขนาดเล็ก สร้างในซอยที่พื้นที่ต่ำ สูบยังไงก็ไม่ทัน เก็บน้ำรอระบายได้ 1,000 ถึงหลายพันลูกบาศก์เมตร

จุดยุทธศาสตร์ที่สามารถทำได้ทันที คือ ใต้ทะเลสาบในสวนจตุจักร หรือบ่อน้ำในสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ต้องเวนคืนพื้นที่ และการแก้ปัญหาน้ำท่วมซอยด้วยการขุดปล่องรับน้ำไว้ปากซอยดักน้ำที่ล้นจากถนน เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำข้างถนน เมื่อฝนหยุดตกก็ปั๊มน้ำเข้าสู่ระบบระบายน้ำข้างถนน โดยขุดปล่องขนาด 4x20x10 ม.จะรองรับน้ำได้ถึง 800 ลบ.ม. ด้วยความกว้าง 4 ม.

3. ระยะยาว ต้องเริ่มโครงการประตูกั้นน้ำทะเลหนุน ที่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างจริงจัง ถ้าไม่ทำ ไม่เริ่ม ทุกนโยบายไร้ประโยชน์ หากกรุงเทพจมน้ำ

*"วิโรจน์ ลักขณาอดิศร " พร้อมชนน้ำท่วมขัง 5 นโยบาย

นโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมกทม.ทั้งหมด 5 ด้านหลัก

1. เปลี่ยนงบอุโมงค์ยักษ์ 2,000 ล้านบาท เป็นงบพัฒนาระบบท่อระบายน้ำ

2. แจ้งโลเคชั่นสำหรับแจ้งเตือนปัญหาน้ำท่วม

3. ตั้งศูนย์รวมการจัดการน้ำไว้ที่เดียว (Single Command) เพื่อให้ข้อมูลทันสถานการณ์การตัดสินใจทำได้รวดเร็ว พร้อมสั่งการหน่วยเคลื่อนที่เร็วนำเครื่องสูบน้ำขนาดกลางเร่งระบายน้ำเมื่อฝนตกระดับวิกฤต

4. หน่วยเคลื่อนที่เร็ว จัดชุดอุปกรณ์เล็กๆ เพื่อกู้สถานการณ์น้ำท่วม

5. ผู้ว่าฯ ใส่ใจ ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์หลักที่ถูกนำมาบรรจุอยู่ในนโยบายเร่งด่วน

*"อัศวิน ขวัญเมือง" มุ่งสู่เมืองปลอดน้ำท่วม

ตั้งเป้าลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมที่เหลืออยู่อีก 9 จุด จากเดิมจุดเสี่ยงทั้งหมด 24 จุด มุ่งสู่เมืองปลอดน้ำท่วม จัดการระบบระบายน้ำออกจากจุดเสี่ยงอย่างรวดเร็ว เสริมแนวตลิ่งให้มั่นคง-ลดพื้นที่การกัดเซาะแนวชายฝั่ง

1. ขยายโครงข่ายท่อระบายน้ำใต้ดิน (Pipe Jacking) เพิ่มเติมจากที่ทำในสมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำท่วมและน้ำทะเลหนุนสูง

2.ต่อยอดสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีให้สมบูรณ์ตลอดแนวคลองช่องนนทรี เพื่อให้น้ำระบายได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในเฟส 1 และเฟสที่ 3 - 5

3.เพิ่มการก่อสร้างจุดแก้มลิงใต้ดิน (Water Bank)บ่อพักน้ำใต้ดิน และแก้มลิงธรรมชาติตามจุดเสี่ยงน้ำท่วมของกทม.

*"สกลธี ภัททิยกุล" ทำบ่อหน่วงน้ำ-ใช้เทคโนโลยี Pipe Jacking

นโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมกทม. คือ สร้าง Water Bank แก้มลิง และอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ โดยควรขุดลอกท่อในกรุงเทพมหานครทั้งท่อใหญ่ ท่อย่อยที่มีความยาวรวมแล้วถึง 6,400 กิโลเมตร ให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อให้การระบายน้ำในช่วงที่ฝนตกหนักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องวางแผนในการขุดลอกโดยนำเทคโนโลยี Pipe Jacking หรือการดันท่อมาใช้ รวมทั้งต้องทำบ่อหน่วงน้ำบริเวณที่มีอาคารต่างๆ เพื่อเป็นจุดพักและชะลอการไหลของน้ำในช่วงฝนที่มีตกหนักเตรียมพร้อมทั้งกำลังคนและเครื่องสูบน้ำให้อยู่ในสภาพเต็ม 100% รองรับหน้าฝนปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ