(เพิ่มเติม) กรมชลฯ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันหลายพื้นที่ หลังฝนตกหนัก 19-25 พ.ค.

ข่าวทั่วไป Thursday May 19, 2022 10:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) กรมชลฯ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันหลายพื้นที่ หลังฝนตกหนัก 19-25 พ.ค.

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 2 เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ ให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งจะมีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 20-23 พ.ค.65

เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงปกคลุมประเทศไทย ทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณอ่าวมะตะบันเคลื่อนผ่านประเทศเมียนมา เข้าสู่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ในช่วงวันที่ 20-23 พ.ค.65 ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมแรง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งภาคใต้ตอนบน

ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเกษตรกร ควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 20 พ.ค.65

  • ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม ชัยภูมิ และนครราชสีมา
  • ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต

ช่วงวันที่ 21-22 พ.ค.65

  • ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กาญจนบุรี และราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต

วันที่ 23 พ.ค.65

  • ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กาญจนบุรี และราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ช่วงวันที่ 19-25 พ.ค. 65 อย่างใกล้ชิด หลังกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝน พบว่าปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องอาจส่งผลให้ เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งทำให้พื้นที่ ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น จึงขอให้ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย

นายประพิศ กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน อย่างใกล้ชิด และกำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง รวมทั้งพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ พร้อมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันกั้นน้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เร่งระบายน้ำในพื้นที่ ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม รับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรองเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที รวมถึงประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ