นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงระบบสาธารณสุขไทยกับการควบคุมโควิด-19 ในการเสวนาหัวข้อ "คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ดูแลทุกวัย ยกระดับสวัสดิการ" ในงาน Better Thailand ว่า ประเทศไทยได้เผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 มาแล้ว 2 ปี คือตั้งแต่ปี 63-64 และในปี 65 นี้ สถานการณ์ระบาดกำลังเข้าสู่ทิศทางที่ดีขึ้น โดยมั่นใจว่าตลอดที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขของไทยจนถึงปัจจุบันมีความแข็งแกร่ง สามารถรับมือการระบาดของโรคโควิดได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของยา เวชภัณฑ์ สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด
นายอนุทิน กล่าวว่า การบริหารสถานการณ์โควิดตลอดที่ผ่านมานั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้คำนึงถึงหลักสำคัญ 2 ประการ คือ การทำอย่างไรที่จะควบคุมโรคให้ได้เร็วที่สุด และ 2.ทำอย่างไรให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้คำนึงถึงแต่ด้านสาธารณสุขเพียงมิติเดียว แต่ได้คำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย ซึ่งทำให้การออกมาตรการควบคุมโรคโควิดแต่ละครั้งได้คำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
"เวลาออกมาตรการด้านสาธารณสุข เราจะคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจด้วย รัฐบาลเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ได้เอาโควิดเป็นศูนย์กลาง เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คุมการระบาดให้ไวสุด แต่ถ้าจำกัดไม่ได้ ก็ทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ เรามีมาตรการที่ยืดหยุ่น" รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข กล่าว
พร้อมระบุว่า สถานการณ์โควิดได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความร่วมมือของรัฐบาล แม้จะเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรคร่วมหลายพรรค แต่ก็ไม่คำนึงว่าประโยชน์จะตกอยู่กับใคร เพราะยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเป็นสำคัญ ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับจากองค์กรด้านสาธารณสุขของโลก ให้ไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกในเรื่องของการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข และระบบสุขภาพที่ดี และล่าสุด ประเทศไทยยังได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า จากนี้ไปจะต้องไม่คิดว่าที่ผ่านมาโควิดเอาอะไรไปจากเรา แต่ต้องคิดว่าเราจะเอาอะไรกลับคืนมาจากโควิด เพราะสิ่งที่โควิดได้เอาไปจากเราในช่วงที่ผ่านมา ขอให้มองว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง และได้นำมาซึ่งการมีระบบสาธารณสุขที่ดี สุขภาพของคนไทยที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้นานาประเทศมีความมั่นใจและกล้าที่จะมาลงทุนในประเทศไทย อันจะมีส่วนช่วยในการฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นด้วย
"จากนี้ไป กระทรวงสาธารณสุขจะใช้สโลแกน Health for Wealth ร่วมพัฒนาประเทศให้ฟื้นกลับมาสู่ความแข็งแรงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ" นายอนุทิน กล่าว