น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวถึงความท้าทายของตลาดคาร์บอนไทยว่า จากการที่ประเทศไทยประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ในปี 2608 ในเวทีการประชุม COP26 ของปี 64 ทำให้ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการลดก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ ตลาดคาร์บอนเป็นกลไกหนึ่งที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) และ World Economic Forum ระบุว่า มีต้นทุนในการดำเนินการน้อยที่สุด และเป็นเครื่องมือในการลดการปล่อยก๊าซที่คุ้มค่าที่สุด ทำให้ในปี 64 ทั่วโลกมีการใช้มาตรการนี้ถึง 45 ประเทศ อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการดำเนินการอีกกว่า 65 ประเทศ และมีมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตถึง 8.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศไทยตลาดคาร์บอนถูกกำหนดไว้ใน (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2558-2593
อย่างไรก็ตาม ตลาดคาร์บอนของไทยในปัจจุบัน ยังมีประเด็นท้าทายต่อการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ดังนี้ 1. การซื้อขายคาร์บอนในประเทศไทยยังมีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของประเทศ 2. การขาดแพลตฟอร์มการซื้อขายและแลกเปลี่ยน 3. ต้นทุนการตรวจวัด การรายงาน และการทวนสอบ (MRV) ในการรับรองคาร์บอนเครดิต (Transaction Cost) อยู่ในระดับสูง และ 4. ตลาดคาร์บอนยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายของประเทศ จึงอาจทำให้การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นไปได้ช้า
ดังนั้น การที่ไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามการประกาศเจตนารมณ์ โดยใช้ตลาดคาร์บอนเป็นเครื่องมือที่สำคัญต้องให้ความสำคัญ คือ
1. การจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วมตลาดคาร์บอนมากขึ้น โตยการสำรวจของสภาอุตสาหกรรม พบว่า ผู้ประกอบการไทยมีความสนใจ และเห็นด้วยกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ซึ่งหากมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม จะสามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมตลาดคาร์บอนได้มากขึ้น
2. การกำหนดเกณฑ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ต้องลดลงให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ อาทิ กำหนดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีฐาน (Baselines) ของแต่ละอุตสาหกรรม รวมทั้งเชื่อมโยงกับนโยบายอื่น เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน
3. การจัดทำระบบฐานข้อมูลการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon credit) ซึ่งจะช่วยให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิต มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ รวมถึงยังช่วยติดตามสถานการณ์ได้อีกทางหนึ่งด้วย
4. การส่งเสริมให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการลงทุนเพื่อผลิตคาร์บอนเครดิต เช่น จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ
5. การสร้างการรับรู้ และส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้ให้กับชุมชน