นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ลงพื้นที่ตรวจสอบและประเมินผลกลุ่มสถานบริการ สถานประกอบการ ที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน และผู้ที่รับบริการ ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างจริงจัง เคร่งครัด จากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) ได้มีมติผ่อนคลายมาตรการให้เปิดกิจการผับ บาร์ คาราโอเกะได้ในพื้นที่โซนสีเขียว-สีฟ้า ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 โดยมีมาตรการควบคุม เฝ้าระวังการระบาดโควิด-19 อาทิ เปิดไม่เกินเวลา 24.00 น. หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกัน ตรวจ ATK ในกลุ่มผู้ให้บริการ และประชาชนที่จะรับบริการต้องฉีดวัคซีนครบตามที่กำหนด เป็นต้น เพื่อให้การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและกระตุ้นกิจกรรมเศรษฐกิจ ให้เดินหน้าต่อไปได้ และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย
"การเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันในวันที่ 1 มิถุนายนนั้น ศบค. ได้ผ่อนคลายมาตรการให้เปิดกิจการได้เฉพาะพื้นที่สีเขียว-สีฟ้า คือพื้นที่เฝ้าระวัง 14 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยนาท พิจิตร อ่างทอง น่าน มหาสารคาม ยโสธร นครพนม ลำปาง อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ตราด สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ และอุดรธานี และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 17 จังหวัดประกอบด้วย กรุงเทพฯ กระบี่ กาญจนบุรี จันทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต ระยอง สงขลา เท่านั้น ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูง 46 จังหวัด ยังไม่อนุญาตให้เปิดกิจการ" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทยวันนี้ (28 พฤษภาคม 2565) พบมีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 4,488 ราย เป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 4,488 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 2,215,564 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ขณะที่หายป่วยกลับบ้าน 3,921 ราย รวมหายป่วยสะสม 2,193,823 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) โดยมีผู้ป่วยกำลังรักษา 46,734 ราย และเสียชีวิต 38 ราย ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 939 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 12 ราย อัตราครองเตียง ร้อยละ 13.7
ส่วนการให้บริการวัคซีนโควิด - 19 ของประเทศไทย มียอดการได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28ก.พ. 2564 - 26 พ.ค. 2565 รวมทั้งสิ้น 137,222,998 โดส (ซึ่งรวมยอดสะสมการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด - 19 แก่กลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. - 26 พ.ค. 2565 จำนวน 4,483,011 โดส) จำแนกเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 56,689,510 โดส วัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 52,517,767 โดส วัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 24,650,984 โดส และวัคซีนเข็มที่ 4 จำนวน 3,364,737 โดส