นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ กรรมการและเลขานุการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) หรือ NIA กล่าวในหัวข้อ "A COUNTRY OF INNOVATION" ว่า สถานการณ์โควิด-19 เร่งการสร้างและการใช้นวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะยกระดับการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ามากขึ้น และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนให้เข้าใจถึงประโยชน์และความสะดวกของนวัตกรรมใหม่ๆ
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนได้เรียนรู้และเข้าใจประสบการณ์การทำงานที่บ้าน (Work from home) ส่งผลให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป โดยมีนวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือรองรับและอำนวยความสะดวกมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของบริการทางการเงิน จำนวนผู้ใช้งานนวัตกรรมบริการทางการเงินใหม่ ๆ โอน จ่าย โดยไม่ต้องใช้เงินสด และการเข้าถึงบริการผ่านสาขาธนาคารเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในอัตราเร่ง นำมาซึ่งการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ให้การใช้บริการความสะดวกมากขึ้นและเกิดการใช้งานจริง
การเดินหน้าสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้นในยุคหลังโควิด-19 จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพราะการที่ประเทศมีนวัตกรรมที่ดีและมีประโยชน์ สามารถช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดย NIA วาง 7 กลยุทธ์ในการสนับสนุนการผลักดันสร้างนวัตกรรม ได้แก่
1.การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการต่างๆมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรม เพื่อเป็นฐานรากให้กับการต่อยอดนำองค์ความรู้จากผู้ประกอบการต่างๆมาปรับใช้ โดยเฉพาะออค์กรขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนได้ค่อนข้างมาก
2.การสร้างคนที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนานวัตกรรมให้เพิ่มขึ้น มีการเสริมทักษะหรือสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เกิดความสนใจเรียนรู้ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรม
3.การวางโครงสร้างพื้นฐานที่เข้ามาเสริมต่อการพัฒนาและการใช้นวัตกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การพัฒนานวัตรรมสามารถไปต่อได้ และนำมาใช้ได้จริง ทำให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
4.การเปิดโอกาสให้มีการนำองค์ความรู้หรือนวัตกรรมจากต่างชาติเข้ามาประยุกต์ใช้มากขึ้น เพื่อนำมาเสริมศักยภาพต่อการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องและเข้าใจคนในประเทศ รวมถึงการเปิดโอกาสให้นวัตกรรมจากฝีมือคนไทยออกไปนำเสนอสู่ต่างประเทศ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่ยกระดับไปสู่สากล
5.การปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่างๆให้มีความยืดหยุ่นและง่ายต่อการขออนุญาตและนำมาใช้ รวมถึงลดระยะเวลาแขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว
6. สร้างความมุ่งมั่นในการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นประเทศชั้นนำในด้านนวัตกรรม และเป็นประเทศที่มีนักคิดและนักพัฒนาระดับแนวหน้าของโลก
7.การเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยจะต้องก้าวขึ้นอยู่ในตำแหน่งประเทศที่มีอุตสาหกรรมด้านนวัตกรรมในระดับโลกได้ กลยุทธ์ทั้ง 7 ข้างต้น NIA ตั้งเป้าขยับอันดับดัชนีด้านนวัตกรรมของไทยในระดับของโลกขึ้นไปอยู่ใน Top 30 ภายในปี 73 จากปี 64 อยู่ในอันดับ Top 43 ซึ่งในปี 68 NIA ตั้งเป้าจำนวนผู้ประกอบการที่พัฒนานวัตกรรมขั้นสูง (Deep Tech) รวม 100 องค์กร จากปัจจุบันที่มี 60 องค์กร และมุ่งเป้าสร้างกรุงเทพฯและเชียงใหม เป็นเมืองแห่งสตาร์ทอัพและเทคโนโลยีของไทย เพื่อคว้าโอกาสในการดึงดูดและจูงใจนักพัฒนาและผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศและต่างประเทศเข้ามาร่วมผลักดันการสร้างนวัตกรรมในประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม