นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมีผู้เป็นห่วงเรื่องการกระจายวัคซีนโควิด-19 ไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะทำให้มีปัญหาวัคซีนล้นตู้เก็บในคลังโรงพยาบาลว่า วัคซีนจำนวน 16.7 ล้านโดสสำหรับ รพ.สต. จะทยอยส่งเป็นรอบๆ ไปที่คลังวัคซีน เพียงแห่งเดียวในแต่ละจังหวัด ซึ่งอาจเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และมีการประสานตรวจสอบวัคซีนคงคลังกับแต่ละจังหวัดก่อนส่งเสมอ ส่วนการกระจายวัคซีนไปที่ รพ.สต. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะจัดส่งตามศักยภาพการฉีดและความจุของตู้เย็นแต่ละ รพ.สต. จึงไม่มีปัญหาเรื่องวัคซีนจะล้นตู้เย็นอย่างที่เป็นข่าว
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น หนึ่งในมาตรการที่สำคัญ คือ การให้วัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม (Universal Vaccination) โดยแต่ละจังหวัดต้องมีความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่น้อยกว่า 60% แต่จากข้อมูล ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 มีความครอบคลุมเข็มกระตุ้นเพียง 41% โดยผู้ที่ครบกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นมารับการฉีดประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น คาดว่ามีผู้ที่ครบกำหนดฉีดเข็มกระตุ้น และรอรับการฉีดเข็มกระตุ้น อีกประมาณ 16 ล้านคน
กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายส่งวัคซีนโควิด-19 ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ไปยัง รพ.สต. ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ใกล้บ้าน และให้บริการแบบ walk in ทุกจุดฉีด เพื่อให้สะดวกในการนำผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงไปฉีดวัคซีนใกล้บ้าน พร้อมทั้งเร่งสื่อสาร เชิญชวนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปด้วย
"ขณะนี้ ยังมีหลายจังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นต่ำกว่า 20% หากไม่ช่วยกันระดมกำลังและส่งวัคซีนลงพื้นที่ จะส่งผลกระทบต่อแผนเปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่น ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหลายจังหวัด เช่น ชลบุรี สมุทรปราการ พบว่า การที่รพ.สต.มีวัคซีนคงคลังเป็นของตนเอง ทำให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. สามารถบริหารจัดการวัคซีนได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอวัคซีนที่ส่งมาจากคลังวัคซีนจังหวัด และเปิดให้บริการแบบ walk-in หรือรับนัดล่วงหน้าได้แบบไม่ต้องจำกัดจำนวน ขณะที่ รพ.สต.อีกหลายแห่งสามารถจัดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกให้กับสถานประกอบการหรือโรงงานที่มีผู้ต้องการฉีดวัคซีนจำนวนมากได้ โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากคลังวัคซีนระดับจังหวัด" นพ.วิชาญกล่าว