นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) ทั่วโลก (วันที่ 5 มิ.ย. 65) ว่า ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 65 พบผู้ป่วยทั้งหมด 990 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยยืนยัน 920 ราย และผู้ป่วยสงสัย 70 ราย จากทั้งหมด 43 ประเทศ
สำหรับประเทศไทย โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยขณะนี้ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สงสัยจำนวน 6 ราย พบว่า ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบเชื้อฝีดาษลิงทั้งหมด ขณะเดียวกัน ยังไม่พบผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง เนื่องจากมีโอกาสพบผู้ป่วยที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศที่มีการรายงานพบผู้ป่วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อม การเฝ้าระวัง และตอบโต้สถานการณ์ฝีดาษลิงในประเทศ คือ 1. เน้นการเฝ้าระวังโรค ผู้เดินทางเข้าประเทศ, ผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล คลินิกโรคผิวหนัง คลินิก STI (Sexually transmitted infection) และผู้ดูแลสัตว์ป่าจากแอฟริกา 2. เตรียมพร้อมทางห้องปฏิบัติการ และการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ 3. เตรียมพร้อมทีมสอบสวนโรค และ 4. เตรียมพร้อมด้านเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน และอุปกรณ์การแพทย์
ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่า โรคฝีดาษลิงอยู่ในความเสี่ยงระดับปานกลาง (Moderate) เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้ป่วยและกลุ่มก้อนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง รายงานมาจากหลายภูมิภาคทั่วโลก และไม่มีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาที่แน่ชัดกับประเทศที่เป็นโรคประจำถิ่นของโรคฝีดาษลิง และเนื่องจากมีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมาก ที่บ่งชี้ว่าน่าจะมีการติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์
"สถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้ ยังพบจำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงไม่มาก ไม่เหมือนกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าโรคฝีดาษลิงยังมีการแพร่กระจายเชื้อที่ไม่เร็ว และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต จึงขอให้ประชาชนไม่กังวลมากเกินไป ถึงแม้ไทยจะมีโอกาสเจอผู้ป่วยจากนักเดินทาง แต่ สธ. มีระบบคัดกรอง ตรวจสอบผู้ป่วยที่ดี และพร้อมจัดหาวัคซีนหากมีความจำเป็นต้องใช้" นพ.โอภาส กล่าว