พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดท่าเรือท่าช้าง-สาทร "SMART PIER SMART CONNECTION" โดยเยี่ยมชมบริเวณจุดเชื่อมต่อระบบขนส่ง ล้อ ราง เรือ และจุดให้บริการบนท่าเรือสาทร ณ บริเวณด้านหน้าท่าเรือสาทร เขตบางรัก กรุงเทพฯ จากนั้นออกเดินทางจากท่าเรือสาทรไปยังท่าเรือท่าช้างโดยเรือไฟฟ้า เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือท่าช้าง-สาทร "SMART PIER SMART CONNECTION" ณ ท่าเรือท่าช้าง
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้เปิดท่าเรือท่าช้าง - สาทร ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ในการกำกับดูแลรักษาความปลอดภัยทางน้ำ ควบคู่กับการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะให้พร้อมบริการและมีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกระดับความสามารถให้ทัดเทียมนานาประเทศในเรื่องของการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อ แบบล้อ ราง เรือ ให้เกิดความสะดวก ปลอดภัย ตามแผนงานโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางน้ำ
โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนพัฒนายกระดับท่าเรือโดยสาร (Smart Pier) ในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ.2562-2567 ที่จะพัฒนายกระดับท่าเรือให้บริการรองรับชีวิตวิถีใหม่ เชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น เพื่อสร้างทางเลือกในการเดินทางของประชาชน โดยท่าเรือมีอัตลักษณ์ที่สวยงาม เกิดเป็นแลนด์มาร์ค ส่งเสริม การท่องเที่ยวทางน้ำ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ในการควบคุม และบริหารจัดการบนเรือ และท่าเรือ สำหรับเส้นทางเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีต้นทางจากท่าเรือสาทร กรุงเทพมหานคร ไปยังปลายทางที่ท่าเรือปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ตรวจเยี่ยมศูนย์บริการร่วมคมนาคม ซึ่งเป็นศูนย์รวมการให้บริการด้านคมนาคมแก่นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป มี 19 หน่วยงาน จากสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง มาให้บริการประชาชน ณ จุดเดียวกันแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร
โดยนายกรัฐมนตรี ได้ทดสอบระบบ และสอบถามปัญหาอุปสรรคการทำงาน พร้อมกล่าวให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ขอให้เรียนรู้ พัฒนาการทำงานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เน้นย้ำให้บูรณาการการทำงานเชื่อมโยงข้อมูลของทุกกระทรวง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้มาใช้บริการ สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐแบบครบวงจร ตามนโนยบายของรัฐบาลที่ต้องการเสริมเสริมให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล
โดยภายหลังการตรวจเยี่ยมศูนย์บริการร่วมคมนาคม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะมุ่งมั่นขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทุกรูปแบบของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัย และเชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับความสะดวกสบายจากระบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศจากโครงข่ายคมนาคมที่เข้มแข็ง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
การยกระดับการสัญจรทางน้ำในกรุงเทพฯ ด้วยท่าเรืออัจฉริยะ ใช้นวัตกรรมการบริการและเทคโนโลยี ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาอำนวยการเดินทางของพี่น้องประชาชนให้สะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถท่องเที่ยวสัญจรทางน้ำได้อย่างสะดวก และเพลิดเพลินกับทิวทัศน์อันสวยงามของริมฝั่งแม่น้ำ อันเป็นการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวริมฝั่งเจ้าพระยา และสร้างรายได้ให้กับประชาชน
สำหรับการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงฯ เสร็จแล้ว จำนวน 5 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือนนทบุรี ท่าเรือท่าช้าง และท่าเรือสาทร โดยอีก 6 แห่ง (ท่าเตียน ท่าราชินี ท่าเกียกกาย ท่าบางโพ ท่าพระราม 7 และท่าพายัพ) คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 และมีแผนขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาท่าเรือในปี 2566- 2567 จำนวน รวม 18 ท่าเรือ รวมทั้งมีแผนติดตั้งระบบให้บริการบนท่าเรือทั้งหมด ในปี 2566 - 2567
ในส่วนของตัวเรือ ได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในการให้บริการ เพื่อลดมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกมาตรฐานและปลอดภัยท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นโดยการให้บริการด้วย ระบบตั๋วร่วม การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ใช้บริการ โดยให้ความสำคัญกับความสวยงามตามอัตลักษณ์ (Landmark) และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ขณะเดียวกันได้กำหนดให้มีการพัฒนาสิ่งอำนวย ความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการควบคุมและการให้บริการ ตามแผนพัฒนากำหนดเป้าหมายในการพัฒนาท่าเรือ จำนวนทั้งสิ้น 29 แห่ง