นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยถึงความร่วมมือการขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ (Big Rock 1) ภายใต้โปรแกรมการยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม
นายอนุทิน กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นจุดศูนย์กลางการทำงานและการเดินทาง มีผู้พักอาศัยและผ่านไปมาจำนวนมาก สามารถทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดไปทั่วประเทศได้ แต่ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดโรคโควิด 19 จนได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และนานาประเทศ เพราะมีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็ง ซึ่งวันนี้ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของ กทม.เป็นประเด็นสุขภาพสำคัญเร่งด่วนที่ต้องช่วยกันทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Health for Wealth)
"การจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ คือ ส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนเข้าถึงระบบการรักษากับหมอครอบครัวได้สะดวก รวดเร็ว จะหยุดความรุนแรงของโรค ลดโรคแทรกซ้อน การทำให้ประชาชนแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย พร้อมประกอบธุรกิจการงานได้อย่างราบรื่น ช่วยลดความสูญเสียรายได้ของครอบครัว ภาพรวมรายได้ทางเศรษฐกิจ และประหยัดงบประมาณการรักษาพยาบาลของประเทศได้ นโยบายสุขภาพปฐมภูมิของกระทรวงสาธารสุขใช้คำง่าย ๆ ว่า 3 หมอ" นายอนุทินกล่าว
พร้อมระบุว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบปฐมภูมิใน กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคระดับชาติ และโรคอุบัติใหม่ ซึ่งการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิในเรื่องต่าง ๆ มีข้อเสนอ คือ
1.การรักษาทุกที่ทุกเวลาแบบไร้รอยต่อ เป็นนโยบายที่มอบไว้ให้ทุกเขตสุขภาพเร่งดำเนินการ และเมื่อจะดำเนินการใน กทม.ด้วยจึงเป็นเรื่องที่ดีมาก หวังว่าคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานหรือพักอาศัยในเมืองหลวง จะได้รับทั้งสิทธิการรักษา และข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาลต่างจังหวัดส่งมาให้ถึงโรงพยาบาลใน กทม.โดยเร็ว
2.การขยายหน่วยบริการ เนื่องจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใน กทม. เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง จึงใช้นโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการที่เน้นนวัตกรรม พัฒนาระบบ Telemedicine และ Home ward โดยมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกำหนดแนวทางการจ่ายค่าชดเชยการบริการใหม่อย่างเหมาะสม เพื่อรองรับการบริการในสังคมสูงอายุ ที่จะมีผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงเพิ่มขึ้น
3.การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ของ กทม. ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา อสม. ซึ่งการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลของ อสม.ได้มีโควตาของ อสส.ด้วย โดยขอให้ กทม.บูรณาการระบบอาสาสมัครสาธารณสุขของประเทศร่วมกัน อาจจะเริ่มจากการใช้แอปพลิเคชัน Smart อสม. เพื่อให้ อสส.ได้รับความรู้ข่าวสารไปพร้อมๆ กับ อสม.
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่มในระบบประกันสังคมอย่างน้อย 360 แห่ง ทั้งโรงพยาบาล คลินิกประกันสังคม คลินิกชุมชนอบอุ่น และคลินิกเวชกรรม เพิ่มรูปแบบเครือข่ายหน่วยบริการสาขา เช่น ร้านยา คลินิกเฉพาะทาง, การกระจายงบประมาณจากโรงพยาบาลไปยังหน่วยปฐมภูมิเพิ่มขึ้นของกองทุนประกันสุขภาพต่าง ๆ, การเพิ่มการเข้าถึงบริการทุติยภูมิ มีการอภิบาลระบบ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพิ่มอาสาสมัครแบบเปิด และรูปแบบการจัดการแบบอาคารสูง หมู่บ้าน คอนโด เป็นต้น
"จากข้อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิใน กทม. ของคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง จะนำไปพิจารณาและร่วมดำเนินการกับ กทม.และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งจากนโยบาย "สุขภาพดี" ของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. มั่นใจว่าต่อไประบบสุขภาพของประเทศไทยจะมีความสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน ผลลัพธ์ภาพรวมภาวะสุขภาพของประชาชนในประเทศไทยจะดีขึ้น" นายอนุทิน กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์จากเขตสุขภาพต่างๆ เพื่อปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชนเมืองร่วมกับ กทม. โดยขอให้ช่วยกันทำให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง และมีความรอบรู้ในการดูแลสุขภาพ เนื่องจากการไม่เจ็บป่วย จะไม่สร้างภาระให้ตัวเอง ครอบครัว และงบประมาณ เพราะ Health is one kind of wealth