นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 9 "มหกรรมกัญชา 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร" ที่สนามช้างอินเตอร์เนชันแนลเซอร์กิต อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงประโยชน์จากสารสกัดกัญชาในการนำมาใช้รักษา และดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น รวมถึงต่อยอดเศรษฐกิจครอบครัว ซึ่งภายหลังที่ประเทศไทยเปิดโอกาสให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้ในปี 62 กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยากัญชารักษาโรค พบว่า ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชามากขึ้น และมีความปลอดภัยสูง รวมถึงผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง เป็นที่ต้องการอย่างมาก สร้างรายได้หมุนเวียนมูลค่ากว่า 7 พันล้านบาทในปี 64 "ล่าสุดเมื่อวานนี้ (9 มิ.ย.) การปลดล็อกพืชกัญชาจากการเป็นยาเสพติดมีผลโดยสมบูรณ์ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงอย่างเหมาะสม สามารถปลูกกัญชาทั้งการใช้ในครัวเรือน การดูแลผู้ป่วย หรือเชิงพาณิชย์ได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดทำแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" อำนวยความสะดวกในการจดแจ้งการปลูกกัญชา กัญชงให้แก่ประชาชน และขอย้ำว่า แม้กัญชา กัญชงไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว การครอบครองหรือการค้าไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป การปลูกกัญชาไม่ต้องขออนุญาต แต่ขอให้ไปจดแจ้ง ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง และขอให้ช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีผู้ใช้ไปในทางที่ผิด" นายอนุทินกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เป็นเขตสุขภาพที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนกัญชาเสรีทางการแพทย์ ดำเนินการทั้งในส่วนต้นน้ำ มีพื้นที่ปลูกกัญชาถึง 53 แห่ง และกัญชงถึง 93 แห่ง, ส่วนกลางน้ำ มีโรงพยาบาลมาตรฐาน GMP ที่มีศักยภาพผลิตยากัญชาสนับสนุนทั้งในเขตสุขภาพและเขตสุขภาพอื่นๆ และปลายน้ำ เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐครบทุกแห่ง และภาคเอกชนอีก 9 แห่ง โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้มีการใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องปลอดภัย เตรียมความพร้อม ทั้งการปลูก การนำส่วนต่างๆ มาใช้ประโยชน์เพื่อการรักษา ประกอบอาหาร แปรรูปในผลิตภัณฑ์สุขภาพ/ต่อยอดในเชิงธุรกิจได้อย่างคุ้มค่า
สำหรับกิจกรรมการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 9 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 มิ.ย. 65 ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการความรู้เกี่ยวกับกัญชาครบวงจร, บริการให้คำปรึกษาการขออนุญาตการปลูกเชิงพาณิชย์, การเปิดตัวแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" รับจดแจ้งสำหรับประชาชนที่ประสงค์ปลูกกัญชา, ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากกัญชาและกัญชง กว่า 200 บูธ, คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน, วิสาหกิจชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชกัญชา กัญชงเพื่อใช้สร้างเศรษฐกิจ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมไฮไลท์ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร นำต้นกล้ากัญชาและกัญชงในโครงการ "แจกกล้ากัญชา 1 ล้านต้น" มาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่มาร่วมงานฟรี จำนวน 1,000 ต้น
ด้าน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร เตรียมจะแจกต้นกัญชาให้ประชาชนที่สนใจครัวเรือนละ 2 ต้น ตามเป้าหมาย 1 ล้านต้นของรัฐบาลหรือประมาณ 500,000 ครัวเรือน ทั้งนี้ สามารถลงทะเบียนแจ้งความจำนงได้ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 65 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.) ของกรมวิชาการเกษตรทั่วประเทศซึ่งมีอยู่ 53 จังหวัด กรณีจังหวัดใดไม่มี ศวพ. ให้ลงทะเบียนได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนั้นๆ หรือผ่านระบบออนไลน์
สำหรับต้นกัญชาที่จะแจกทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ไทย โดยมีพันธุ์หลัก คือ พันธุ์อิสระ 01 พัฒนาพันธุ์โดยกรมการแพทย์ กรมวิชาการเกษตร และมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นพันธุ์รับรองเมื่อ 29 ม.ค. 64 นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ในโครงการนี้ด้วย
"สายพันธุ์ของไทยไม่เป็นรองใคร มีสายพันธุ์ไทยต่างๆ ที่เหมาะสมกับภูมิประเทศ เช่น สายพันธ์หางกระรอก ตะนาวศรี หางเสือ ภูพาน ที่พี่น้องประชาชนหาเมล็ดมาปลูกได้ หากจับจองใน 1 ล้านต้นไม่ทัน อีกทั้งขณะนี้มีผู้มาขอขึ้นทะเบียนพันธุ์กัญชาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อนาคตจะเห็นสายพันธุ์ไทยดีๆ อีกมาก" น.ส.มนัญญา กล่าว
พร้อมเตือนประชาชนว่า เนื่องจากขณะนี้มีเมล็ดพันธุ์ผิดกฎหมายลักลอบจำหน่ายกันแพร่หลาย จึงขอให้ประชาชนตรวจสอบก่อนซื้อ โดยให้พิจารณาจากใบอนุญาตของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะต้องติดแสดงไว้ให้ประชาชนเห็นชัดเจน ผู้ค้ารายใดไม่แสดงให้เห็น ให้คิดไว้ก่อนว่าอาจเป็นการนำเข้าไม่ถูกต้อง หรือเป็นพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับรองจากรมวิชาการเกษตร ซึ่งซื้อไปอาจไม่งอกหรือเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป ด้าน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมฯ วางแผนแจกต้นกัญชา 1 ล้านต้น ระหว่างเดือน มิ.ย.-ธ.ค. 65 โดยจะจัดแจกได้เดือนละ 1-2 แสนต้น ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนจะได้รับต้นกัญชาหลังลงทะเบียนประมาณ 30 วัน เนื่องจากเพิ่งมีการปลดจากบัญชียาเสพติด กรมฯ ต้องเริ่มเพาะซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 21-30 วันต่อรอบการผลิต ดังนั้น แต่ละพื้นที่จะรับต้นกัญชาได้ในเวลาที่ต่างกันจนครบ 1 ล้านต้น สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถลงทะเบียนที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่ 16 มิ.ย. นี้ หรือผ่านระบบออนไลน์ซึ่งกรมฯ จะออกแบบให้ใช้ง่ายที่สุด "กรมฯ ได้ตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จพืชกัญชา กัญชง กระท่อม ที่ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสายด่วน (hotline) 1174 เป็นศูนย์รวมความรู้หรือตอบข้อสงสัยเป็นคู่คิดให้กับพี่น้องประชาชนในทุกด้านของพืชทั้ง 3 ชนิด กัญชา กัญชง และกระท่อม เพราะเรามองว่าอนาคตจะมีการพัฒนาระบบการปลูก การค้าไปอีกหลากหลายด้าน ประชาชนจะไม่ต้องไปเสียเวลาให้มาถามที่นี่จุดเดียวจบครบทุกเรื่อง และอนาคตจะมีการปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทุกมิติ" นายระพีภัทร์ กล่าว