นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และประธานคณะกรรมการประมวลสถานการณ์โรคโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) (MIU) เปิดเผยว่า หนึ่งในมาตรการคัดกรองโรคโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา คือ การวัดอุณหภูมิก่อนเข้าประเทศและตามสถานที่ต่างๆ เนื่องจากช่วงที่โรคโควิด-19 ยังมีความรุนแรง ผู้ป่วยมักมีไข้เป็นอาการนำ และเป็นการสร้างความตระหนัก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันทั้งสถานการณ์และเชื้อโควิด-19 มีความรุนแรงลดลงมาก อีกทั้งประชาชนได้รับวัคซีนเป็นจำนวนมากผู้ติดเชื้อมากกว่าครึ่งไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประโยชน์และประสิทธิผลของเครื่องวัดอุณหภูมิ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยสามารถปิดบังอาการไข้ได้ด้วยการรับประทานยาลดไข้ ใส่เสื้อผ้าหนาปกคลุมร่างกาย การล้างหน้า และการใช้เครื่องสำอาง เป็นต้น คณะกรรมการ MIU จึงดำเนินการทบทวนมาตรการคัดกรองอุณหภูมิ หลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19
นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า เครื่องวัดอุณหภูมิมีประสิทธิผลในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ต่ำ โดยมีค่าความไวต่ำตั้งแต่ 0-39% ทำให้ค่าพยากรณ์ผลทั้งบวกและลบต่ำมาก ให้ผลบวกและลบปลอม ทั้งการใช้ที่สนามบิน หรือสถานที่ต่างๆ ยังไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนถึงประโยชน์ในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
ดังนั้น จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายและมาตรการว่า ในปัจจุบันและหลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 อาจไม่จำเป็นต้องให้สนามบิน ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ และสถานประกอบการต่างๆ คัดกรองผู้ติดเชื้อด้วยการวัดอุณหภูมิ ซึ่งในต่างประเทศก็มีคำแนะนำคล้ายกัน เช่น ประเทศอังกฤษ ออกคำแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองผู้ป่วยโควิด หรือประเทศสิงคโปร์ยกเลิกการคัดกรองอุณหภูมิในที่สาธารณะ ตั้งแต่ส.ค. 64 ขณะที่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ปัจจุบันไม่มีคำแนะนำเรื่องการวัดอุณหภูมิสำหรับการคัดกรอง
นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า สำหรับเครื่องวัดอุณหภูมิแบบสแกนร่างกายในสนามบินนั้น ไม่มีหลักฐานด้านประสิทธิผลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน และยังต้องพัฒนานวัตกรรมที่มีประสิทธิผลในการคัดกรองโรคติดเชื้อที่ดีกว่านี้ในอนาคตสำหรับในกลุ่มนักเดินทาง นอกจากนี้ พบว่ามาตรการคัดกรองอุณหภูมิที่สนามบิน อาจทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยมากเกินไป จนส่งผลให้ละเลยมาตรการอื่นๆ (False security) และทำให้เกิดความไม่สะดวก
ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว จะนำเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อพิจารณาต่อไป แต่ยังคงเน้นย้ำมาตรการเรื่องวัคซีนเข็มกระตุ้น การสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยงและผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก และให้มีการธำรงรักษาพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น การล้างมือ การเว้นระยะห่าง ลดความแออัด รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี