น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการร่างข้อเสนอการปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องจัดส่งร่างข้อเสนอดังกล่าว ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เพื่อเสนอเข้าวาระการประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 19 ภายในวันที่ 17 มิ.ย. 65 ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างข้อเสนอฯ ดังกล่าว ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้เป็นดุลยพินิจของอธิบดีกรมประมงเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับมาเสนอครม. ใหม่
ทั้งนี้ จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ และอยู่ในบัญชี 1 ตามอนุสัญญา CITES ซึ่งเป็นบัญชีสำหรับชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2518 เนื่องจากประชากรจระเข้ตามธรรมชาติในประเทศไทยมีจำนวนน้อย แต่ปัจจุบันมีมากกว่า 100 ตัว ต่อมาประเทศไทยเริ่มมีการเพาะพันธุ์จระเข้ และมีการค้าขายกันเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น ในปี 2556 ในการประชุมภาคีอนุสัญญา CITES ครั้งที่ 16 ประเทศไทยจึงขอเสนอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยจากบัญชี 1 ตามอนุสัญญา CITES เป็นบัญชี 2 เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งออกจระเข้ไปยังต่างประเทศ แต่ข้อเสนอครั้งนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม เนื่องจากประเทศภาคีสมาชิกบางประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา มีความกังวลต่อจำนวนประชากรจระเข้น้ำจืดของไทยในธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอการปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยครั้งใหม่นี้ ได้มีการเพิ่มและปรับปรุงข้อมูลในส่วนแนวทางการคุ้มครองจระเข้ตามธรรมชาติของประเทศไทย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยคุกคามต่อจระเข้ตามธรรมชาติ เป็นต้น และเพื่อให้ประเทศภาคีอนุสัญญา CITES มั่นใจว่าจระเข้ตามธรรมชาติจะได้รับการคุ้มครอง โดยจะไม่มีการทำการค้าโดยเด็ดขาด และการค้าจระเข้จะมาจากฟาร์มเพาะพันธุ์ของเกษตรกรที่ได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ความแตกต่างระหว่างบัญชี 1 และบัญชี 2 ตามอนุสัญญา CITES คือ บัญชี 1 จะระบุชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีสภาพใกล้สูญพันธุ์ ห้ามมีการส่งออกเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า แต่หากชนิดพันธุ์ดังกล่าวสามารถเพาะพันธุ์และมีศักยภาพในการค้าขายเชิงพาณิชย์ได้ ให้สามารถส่งออกได้ภายใต้เงื่อนไข คือต้องเป็นฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักเลขาธิการ CITES แล้ว และต้องขอใบอนุญาตส่งออก ใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์จระเข้ และใบอนุญาตให้ค้าจระเข้เช่นเดียวกับบัญชี 2
ส่วนบัญชี 2 เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีสถานภาพยังไม่ใกล้สูญพันธุ์ สามารถส่งออกเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าได้ โดยจะต้องมีใบอนุญาตส่งออก ใบอนุญาตให้เพาะพันธุ์จระเข้ และใบอนุญาตให้ค้าจระเข้ โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนฟาร์มกับสำนักเลขาธิการ CITES