น.ส.เจนจิต ลัดพลี ผู้อำนวยการ การตลาดเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กล่าวว่า จากการที่ไทยเริ่มเปิดประเทศให้ประชาชนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้เป็นปกติตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สัดส่วนการใช้จ่ายของสมาชิกผ่านบัตรเครดิต KTC ในหมวดการเดินทางท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี 65 จนถึงสิ้นเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ในหมวดดังกล่าว ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 5 ของพอร์ตการใช้จ่ายโดยรวม (จากอันดับที่ 11 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19)
ทั้งนี้ KTC ได้เล็งเห็นถึงพฤติกรรมของนักเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ ความสนใจที่จะใช้บริการกับบริษัทนำเที่ยวมากขึ้น พร้อมที่จะเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย กระแสการท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชน ไม่นิยมท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่มีคนพลุกพล่าน และการท่องเที่ยวแบบครอบครัว เพื่อหลีกเลี่ยงการปะปนกับบุคคลอื่นๆ โดยจะพักอาศัยอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ ไม่เปลี่ยนที่พัก หรือสถานที่บ่อยๆ
KTC จึงได้ปรับกลยุทธ์การตลาด จับมือพันธมิตรธุรกิจท่องเที่ยวร่วมกันเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับกระแสการท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมา ดังนี้
1. การมอบสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกบัตรในการเดินทางท่องเที่ยวผ่านบัตรเครดิต KTC-บางกอกแอร์เวย์ส และบัตรเครดิต KTC-อโกด้า มาสเตอร์การ์ด
2. การชูจุดแข็งแกร่งของคะแนน KTC FOREVER สมาชิกสามารถใช้คะแนนแลกรับเป็นส่วนลดในการเดินทางท่องเที่ยวกับพันธมิตรธุรกิจท่องเที่ยว เช่น สายการบิน บัตรเข้าชมสถานที่ และรถเช่า
3. การเปิดแพลตฟอร์ม Travel Hub ภายใต้คอนเซปต์ "หา เรื่อง เที่ยว" เพื่อเป็นแหล่งรวมโปรโมชันด้านการท่องเที่ยว โดยเน้นการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งเมืองหลักและเมืองรอง รวมถึงชุมชนต่างๆ กว่า 252 แห่งทั่วประเทศไทย ในส่วนของพันธมิตรธุรกิจ KTC ได้จัดแคมเปญ "เที่ยว อยู่ ได้" เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยทาง KTC ให้การสนับสนุนด้านสื่อประชาสัมพันธ์ รวมถึงสิทธิประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการขาย
4. การให้บริการด้านการท่องเที่ยวตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านบริการ KTC World Travel Service เพื่อเป็นทางเลือกให้พันธมิตรได้ขยายช่องทางในการจัดจำหน่าย รวมถึงดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่สมาชิกบัตรเครดิต KTC สำหรับการจองตั๋วเครื่องบิน แพ็กเกจท่องเที่ยว รถเช่า บัตรเข้าชมสถานที่ รวมถึงการให้บริการรับทำวีซ่า
"KTC มีจุดยืนในการนำเรื่องท่องเที่ยวมาเป็นกลยุทธ์ในการทำตลาด เป็นตัวกลางในการชำระเงิน ทำงานตั้งแต่ต้นน้ำ เน้นการร่วมทำงานกับพาร์ทเนอร์ เข้าใจซัพพลายและดีมานด์ หาตลาด หาพื้นที่ ทำพื้นที่โฆษณา ขยายฐานบัตร โดย KTC พร้อมเป็นคนกลางให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปต่อได้มากขึ้น และพร้อมเป็นฟันเฟืองช่วยภาครัฐ เพิ่มการจับจ่ายใช้สอยจากการท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน ในอนาคตจะมีการพูดคุยกับพันธมิตรประเทศอื่นๆ มากกว่านี้" น.ส.เจนจิต กล่าว
ด้าน น.ส.อรินทร์ชยา บรรเจิดศิริ กรรมการกลาง สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศเริ่มคลี่คลาย และมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คนเริ่มเบื่อหน่ายกับการอยู่ในเมือง ในบ้าน จึงเป็นแรงจูงใจให้คนอยากออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลให้คนไทยค้นหาข้อมูลท่องเที่ยวผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ มากขึ้น
อย่างไรก็ดี รูปแบบพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยเปลี่ยนไปหลังจากช่วงโควิด คนไทยนิยมเดินทางเป็นครอบครัว กรุ๊ปเล็กๆ 3-4 คน ขณะเดียวกัน พฤติกรรมการจองการเดินทางหรือที่พักของคนไทยก็เปลี่ยนไป คือ จะไม่จองผ่านทัวร์ นักท่องเที่ยวจะจองรถ เครื่องบิน โรงแรมเองโดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมามีการทำงานที่บ้าน จึงมีระยะเวลาในการค้นหาข้อมูลมากขึ้น จึงจองแยกเป็นส่วนๆ ไป เพื่อให้การเดินทางมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ดังนั้น แนะนำในส่วนของผู้ประกอบการว่า ต้องพยายามแยกส่วนคอร์สท่องเที่ยวจะขายได้มากกว่า เพราะลูกค้ามีการตัดสินใจเปลี่ยนไป
น.ส.อรินทร์ชยา กล่าวต่อว่า ภาครัฐเองก็ได้ออกโครงการ "ทัวร์เที่ยวไทย" เพื่อส่งเสริมและให้การสนับสนุนนักท่องเที่ยวไทย ให้กลับมาเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังตอบรับกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เช่น การเดินทางที่เสรียิ่งขึ้น รวมถึงการอนุญาตให้ธุรกิจบริการกลับมาเปิดกิจการได้มากขึ้นด้วย
ด้าน นายโชติช่วง ศูรางกูร Vice President สมาคมบริการท่องเที่ยว กล่าวว่า นักท่องเที่ยวไทยให้ความสนใจในการเดินทางเที่ยวในต่างประเทศมากขึ้น หลังจากที่ไทยปิดประเทศมา 2 ปีครึ่ง แต่คงยังไม่ได้กลับมาท่องเที่ยวแบบทะลัก เนื่องจากประเทศที่เป็นที่นิยมของคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เปิดเต็มรูปแบบ ถึงแม้จะไม่มีมาตรการกักตัว แต่ก็มีเรื่องอื่นๆ เช่น การขอวีซ่า การตรวจโควิด การซื้อประกันการเดินทาง และการลงทะเบียนเข้าประเทศก่อนเดินทาง ทำให้นักท่องเที่ยวไทยยังไม่ตัดสินใจเดินทาง
"การเดินทางไปต่างประเทศ ต้องการวางแผนมากกว่าในประเทศ เช่น ต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด หรือพาสปอร์ตวัคซีน แตกต่างกันไปแต่ละประเทศ ซึ่งมีความยุ่งยากมากขึ้น ทั้งนี้ หากมองเรื่องการท่องเที่ยวจริงๆ เงื่อนไขต่างๆ ต้องหายไป" นายโชติช่วง กล่าว
นายโชติช่วง กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ต้นทุนการเดินทางสูงขึ้น จากเดิมที่สูงอยู่แล้วจากสภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก การพุ่งขึ้นของค่าน้ำมัน และอาหารจากสภาวะสงคราม ราคาตั๋วเครื่องบินที่สูงขึ้นเพราะจำนวนไฟลท์ที่น้อยลงไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดกระทบเศรษฐกิจอย่างหนัก ส่งผลให้คนจำนวนมากมีปริมาณเงินในกระเป๋าลดน้อยลง
"มองว่าการเดินทางจะมากขึ้น แต่เรื่องค่าใช้จ่ายนั้น ทั้งค่าน้ำมัน ค่าอาหารเพิ่มขึ้นทุกประเทศ ในเอเชียอาจเพิ่มไม่มากประมาณ 5-10% แต่ยุโรปขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากผลกระทบรัสเซีย-ยูเครน โดยขึ้นประมาณ 30% รวมๆ แล้วบวกกับค่าใช้จ่ายอื่น ก็ต้องมีงบประมาณในการเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น" นายโชติช่วง กล่าว
ทั้งนี้ สมาคมฯ คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้ประมาณ 1.2 ล้านคน จากเดิมที่เคยทำสถิติสูงสุดไว้ที่ 11.2 ล้านคนในปี 62 สำหรับช่วงไตรมาสที่ 3 ของทุกปีเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศน้อยกว่าไตรมาสอื่นๆ อยู่แล้ว เนื่องจากประเทศอื่นๆ เช่น ฝั่งยุโรป หรือญี่ปุ่น เกาหลี เป็นฤดูร้อน ซึ่งคนไทยไม่นิยมเดินทาง ดังนั้น จึงต้องรอติดตามผลในไตรมาสที่ 4 ที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งหลายๆ ประเทศมีนโยบายที่จะเปิดเมืองมากขึ้น พร้อมกับผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยวลง
"เรื่องมุมมองของรัฐบาลต่อการท่องเที่ยว ของไทยเปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ยังคงมีความกังวลของผู้บริโภค เช่น ไฟล์ทบินลดลง ความไม่แน่นอนของโรคระบาด สุดท้ายคือผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นตัวเต็ม 100% ในช่วงโควิด ซึ่งต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ได้ในยุคปัจจุบัน ทั้งหมดเป็นอุปสรรคของการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ" นายโชติช่วง กล่าว
ด้าน น.ส.จารุวรรณ พงษ์จารุวัฒน์ ผู้จัดการโครงการ หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ สถานทูตนิวซีแลนด์ กล่าวว่า คนไทยให้ความนิยมในการศึกษาต่อที่นิวซีแลนด์ เป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนักเรียนไทยสามารถทำวีซ่าไปเรียนต่อที่นิวซีแลนด์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 65 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ที่รัฐบาลนิวซีแลนด์จะเปิดรับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนต.ค. 65 นักศึกษาต่างชาติทุกคนที่ผ่านเกณฑ์การรับเข้าเรียนต่อ สามารถสมัครเรียนต่อและทำวีซ่านักเรียนได้อย่างเต็มรูปแบบ
"รัฐบาลนิวซีแลนด์ยังได้ปรับนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ให้ตอบโจทย์โลกดิจิทัลมากขึ้น และพร้อมรับนักเรียนต่างชาติเต็มที่ สร้างประสบการณ์ สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงนิวซีแลนด์กับทั้งโลก และเน้นการสร้างเครือข่ายพันธมิตร นอกจากนี้ ทางหน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ได้ทำโปรโมชันพิเศษต้อนรับการเปิดประเทศ ด้วยการจ่ายค่าเล่าเรียนผ่านบัตรเครดิต KTC รับคะแนน KTC FOREVER พิเศษ 4 เท่า และยังสามารถใช้คะแนนแลกจ่ายค่าเล่าเรียนได้อีกด้วย" น.ส.จารุวรรณ กล่าว
ด้าน น.ส.ศิริพร บัณฑิตย์จิรกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นยินดีต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวไทยอีกครั้ง สามารถเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. นี้เป็นต้นไป โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศสูงสุด 2 หมื่นคน/วัน ส่วนมาตรการในการเข้าประเทศ ต้องเตรียม 3 อย่าง คือ วีซ่า ใบรับรองผลตรวจโควิด 72 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง และประกันสุขภาพการเดินทางต่างประเทศ ทั้งนี้ ไม่ต้องกักตัว ไม่ต้องตรวจโควิด และไม่ต้องมีใบรับรองผลการฉีดวัคซีน
สำหรับรูปแบบการท่องเที่ยว ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดให้เที่ยวผ่านบริษัททัวร์ มีหัวหน้าทัวร์ที่เป็นคนไทยที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ กรุ๊ปทัวร์ไม่จำกัดจำนวนคน และสามารถพูดคุยกับบริษัททัวร์เรื่องเส้นทางการท่องเที่ยวเองได้
"รูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป คือเดินทางในกลุ่มที่เล็กลง เที่ยวนอกเหนือจากเมืองใหญ่มากขึ้น แต่เทรนด์การท่องเที่ยวของคนไทยมากกว่า 70% เที่ยวแบบซ้ำๆ ซึ่งขอแนะนำรูปแบบการท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ เช่น ทัวร์บอนไซ หรือท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เรียนรู้วัฒนธรรม เป็นต้น ส่วนมาตรการต่างๆ จะทำเป็นลักษณะแบบ Step by Step ค่อยๆ เปิดประเทศ ยังไม่มีข้อมูลว่าเมื่อไหร่จะให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางด้วยตนเองได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มสีฟ้า หรือมีความเสี่ยงต่ำ ก็คือมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยมาก" น.ส.ศิริพร กล่าว
ด้าน น.ส.อริญชยา เลิศวัฒนชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (อสท.) สำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ประเทศเกาหลีเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศได้แล้ว แต่อาจมีข้อกำหนดบางอย่าง เช่น ไม่ต้องฉีดวัคซีน แต่ต้องตรวจ Antigen Test Kit (ATK) 24 ชั่วโมงก่อนเดินทางล่วงหน้า ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization) หรือเป็นการขออนุญาตเข้าเมือง ซึ่งหากผ่านครั้งหนึ่งแล้วสามารถใช้ได้ 2 ปี นอกจากนี้ ต้องลงทะเบียนรับ Q-CODE และตรวจ RT-PCR 1 ครั้ง หลังจากลงเครื่อง
"วัฒนธรรมเกาหลีได้เผยแพร่ไปทั่วโลก รวมทั้งไทย คนไทยสนใจไปเที่ยวเกาหลีเยอะมาก โดยล่าสุดยอดจองคนไทยที่เดินทางไปเกาหลี ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. 65 ขณะนี้มีจำนวนมากเทียบเท่ากับปี 62 แล้ว ส่วนเทรนด์การท่องเที่ยวเกาหลี คนไทยนิยมไปต่างจังหวัดมากกว่าในเมือง เนื่องจากในช่วงโควิดคนหลีกหนีความแออัด ไม่มีการบังคับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ ในส่วนของร้านอาหารได้มีการนำหุ่นยนต์ AR (Augmented reality) หรือ VR (Virtual Reality) มาใช้มากขึ้นเพื่อลดการสัมผัส" น.ส.อริญชยา กล่าว
ทั้งนี้ อสท.เกาหลี ได้เตรียมความพร้อมให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ชูจุดเด่นสถานที่ท่องเที่ยวปลอดภัย (Safe Travels Destinations) ทั่วประเทศ ภายใต้แคมเปญ "Travel to Korea, Begins Again" จัดกิจกรรมพิเศษ เช่น กิจกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยวและรับของที่ระลึกพิเศษที่สนามบินอินชอน รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ให้สิทธิประโยชน์และส่วนลดพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยว เช่น ตั๋วเครื่องบิน สถานที่ท่องเที่ยว ร้านค้า เป็นต้น
ด้าน นายนิโคลัส ลิม ผู้จัดการสำนักงานการท่องเที่ยวสิงคโปร์ ประจำประเทศมาเลเซียและบรูไน กล่าวว่า การท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board: STB) เดินหน้าแผนสร้างความเชื่อมั่น เปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทั้งนี้ ต้องได้รับวัคซีนครบโดส หรือมีวัคซีนพาสปอร์ต และมี Singapore Pass ที่คล้ายกับ Thailand Pass ของไทย
ทั้งนี้ อยากให้เปลี่ยนภาพลักษณ์การมองประเทศสิงคโปร์ ว่าไม่ได้มีเพียงตึกและเมือง แต่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายซ่อนอยู่ในย่านต่างๆ ให้ค้นหา และมีการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้นิยาม ?SingapoReimagine? ให้นักท่องเที่ยวออกเดินทางสัมผัสสิงคโปร์ในมุมมองใหม่ "ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน-สุขภาพดี-ประสบการณ์อาหารที่หลากหลาย-สถานที่เที่ยวอันน่าตื่นตาตื่นใจ"
ด้าน น.ส.ณัฐินีฐิติ ภิญญาปิญชาน์ ตัวแทนการท่องเที่ยวปีนังประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศมาเลเซียเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา สำหรับคนไทยฟรีวีซ่า ไม่ต้องตรวจ ATK หรือ RT-PCR ไม่ต้องมีประกันการเดินทาง และตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ประกาศไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะแล้ว
สำหรับวิสัยทัศน์ของปีนัง ในปี 2573 ตั้งเป้าให้ปีนังเป็นพื้นที่ที่เหมือนอยู่บ้าน เน้นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียว และเน้นความเป็น Smart Stage ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในการเดินทางมากขึ้น พร้อมนำเสนอเรื่องราวความหลากหลายของเอเชีย ทั้งเรื่องวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวปีนังอยู่ระหว่างเจรจากับสายการบินและภาคธุรกิจ เพื่อเปิดเส้นทางการเดินทางเข้าสู่ปีนังให้มากขึ้น โดยในเดือนส.ค. 65 การท่องเที่ยวปีนังจะจัดโรดโชว์ที่กรุงเทพฯ และหาดใหญ่ภายใต้ธีม "Experience Penang" เพื่อโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เพิ่งได้รับรางวัลระดับโลก เช่น ปีนังฮิลล์ ป่าฝนปฐมภูมิที่มีอายุ 130 ล้านปี ที่เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก (UNESCO) รวมถึงสตรีทอาร์ท และแหล่งรวมอาหารท้องถิ่น ซึ่งทำให้สำนักข่าว CNN จัดอันดับให้ปีนังเป็นหนึ่งใน 22 สถานที่ดีที่สุดที่ควรไปเยือนในปี 65