ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูล (รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม) โควิดโลก "GISAID" ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 แล้วจำนวน 23 ราย, BA.5 จำนวน 26 ราย และ BA.2.12.1 จำนวน 18 ราย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลยังไม่เพิ่มจำนวน อย่างไรก็ดี ยังต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 ปัจจุบันพบการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิมมากที่สุด ก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน และแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ในอนาคตอันใกล้ โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในประเทศโปรตุเกสและแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามมาด้วยอังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ
ทั้งนี้ โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย "BA.5" มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ดั้งเดิมมากที่สุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในโปรตุเกสมากกว่า 80% ในเยอรมนีมีผู้ติดเชื้อและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมานานกว่าหนึ่งสัปดาห์ โดยมีการติดเชื้อ BA.5 เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อสิ้นเดือนที่แล้ว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลคือ ผลการทดลองในสัตว์ทดลองเบื้องต้นบ่งชี้ว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 สามารถเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด อันอาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อปอดอักเสบขึ้นได้ในมนุษย์ ซึ่งต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่าง BA.1 หรือ BA.2 ซึ่งเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงมาแพร่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอด