นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ได้นัดหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เรื่อง การบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินที่เป็นปัญหาค้างคามานาน ในวันที่ 4 ก.ค. นี้ โดยก่อนหน้านี้ กทม. ให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินโครงการสร้างท่อร้อยสายใหม่ เพื่อนำสายสื่อสารลงใต้ดิน
แต่ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการลงทุนสูง ซึ่งทราบในเบื้องต้นว่าการทำโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินต้องใช้งบประมาณราว 20,000 ล้านบาท ทำให้ค่าเช่ามีราคาแพง ดังนั้นรัฐบาลรับปากว่าจะจัดสรรงบประมาณให้ เพื่อลดต้นทุนในส่วนนี้ให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) คาดว่าหากเจรจากันสำเร็จจะเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ โดยมอบหมายให้ NT เป็นผู้ดำเนินโครงการ คาดว่าจะสามารถทำโครงการเสร็จภายใน 3-4 ปี
"จะพยายามหางบประมาณให้ได้ อาจมาจาก กสทช. ซึ่งกำลังนัดคุยกับ กสทช.ชุดใหม่อยู่ หรืออาจจะมาจากกองทุนดีอี นอกจากเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว ค่าเช่าก็ต้องไม่แพง หรือ สามารถลดหย่อนเงินยูโซ่ (กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ) ได้" นายชัยวุฒิ กล่าว
พร้อมระบุว่า หากพื้นที่ไหนยังไม่สามารถนำสายสื่อสารลงใต้ดินได้ ก็มีโครงการจัดระเบียบสายด้วยการตัดสายเก่าทิ้ง และเดินสายสื่อสารใหม่ ซึ่งโครงการจะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีไอเอสพีเป็นสมาชิก และกรุงเทพมหานคร ในการจัดระเบียบสายพร้อมกัน
ทั้งนี้ นโยบายการจัดระเบียบสายสื่อสารของภาครัฐ ตั้งเป้าปี 65 ให้มีการดำเนินการในโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นในตามถนนสายหลัก โดยเฉพาะย่านธุรกิจและขยายสู่พื้นที่รอบนอกต่อไป โดยในปี 65 นี้ ได้เริ่มดำเนินการในกลุ่มเร่งด่วนพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ซึ่งกระทรวงดีอีเอส ได้มอบหมายให้ NT ดำเนินการในโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร บริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามแนวถนนสายหลัก บริเวณย่านธุรกิจและสถานที่สำคัญ ซึ่งเมื่อกลางเดือนมี.ค. 65 ได้จัดระเบียบสายสื่อสารบริเวณพื้นที่เขตวัฒนา บริเวณถนนสุขุมวิท 71 บริเวณปากซอยปรีดีพนมยงค์ 31 - ซอยเอกมัย 12 -ปากซอยทองหล่อ 10 ไปแล้ว
ด้านนางสมจิตต์ ธีระชุติกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานขายและปฏิบัติการลูกค้า 2 NT กล่าวว่า NT พร้อมที่จะดำเนินการตามแนวนโยบายของกระทรวงดีอีเอสมาโดยตลอด ในการดำเนินการเพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศภาพรวม โดย NT, กฟน. ร่วมกับผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนบูรณาการจัดระเบียบสายสื่อสารในเส้นทางหลักและเส้นทางวิกฤต ทั้งในกรุงเทพฯ จำนวน 39 เส้นทาง รวมระยะทางทั้งหมด 104.83 กิโลเมตร
โดยเส้นทางซอยสุขุมวิท 36 (สุขุมวิท-พระราม 4) เป็นพื้นที่มีประชากรหนาแน่น จัดอยู่ในกลุ่มเร่งด่วน มีระยะทางดำเนินการ 3 กิโลเมตร รูปแบบการจัดระเบียบสายสื่อที่ใช้ในเส้นทาง ซอยสุขุมวิท 36 เป็นแบบแขวนอากาศ โดยรื้อถอนสายที่ขาดหรือไม่ใช้งาน และจัดเก็บแบบมัดรวบสาย ปรับปรุงลดจำนวนสายสื่อสาร และเปลี่ยนสายสื่อสารทองแดงเป็นแบบชนิดไฟเบอร์ออฟติก พร้อมติดตั้งตามมาตรฐานที่กำหนด เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 65 เป็นต้นไป