น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ (War Room) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำในเรื่องการปราบปรามการทุจริตในทุกภาคส่วน ซึ่งจากปัญหาการทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีจึงได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 65 มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์ ตรวจสอบ เร่งรัด ติดตามการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทุจริตในสหกรณ์ และให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะแก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการดำเนินการตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์ทั่วประเทศเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา พบปัญหาว่ามีความหละหลวม ที่ผ่านมาไม่มีการบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจัง ตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์จึงเข้ามาแก้ไข
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อระเบียบต่างๆ ที่ต้องอาศัยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ชุดนี้ขึ้นมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
ทั้งนี้ ในการประชุมร่วมกับหน่วยงานทั้งหมด พบว่า ควรมีแนวปฏิบัติสำหรับเข้าตรวจสอบการทำงานของสหกรณ์ รวมถึงรูปแบบในการส่งเรื่องดำเนินคดี และรูปแบบในการติดตามทรัพย์ ยึด-อายัดทรัพย์ ให้เป็นรูปแบบที่ชัดเจนสำหรับให้ทุกสหกรณ์และผู้เกี่ยวข้องในการทำงานครั้งนี้ ไว้เป็นแนวปฏิบัติเดียวกัน เพื่อให้การขับเคลื่อนสามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว
ดังนั้น จะประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และปปง. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินคดีและมองเห็นช่องโหว่ความล่าช้าของกฎหมายและระเบียบสหกรณ์ได้เป็นอย่างดี โดยจะหารือร่วมกันและวางเป็นโมเดลแก้ปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ต่อไป เพื่อลดความเสียหายของสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศ
"ในการหารือคณะกรรมการฯ ชุดนี้ ได้มีการหยิบยกประเด็นการทุจริตของสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นการดำเนินการของตำรวจ จำนวน 58 สหกรณ์ จากทั้งหมด 252 สหกรณ์ จึงได้ขอให้ทางตำรวจเข้าช่วยติดตามความคืบหน้าของคดีทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดคอขวดหรือความล่าช้าในการเข้าตรวจสอบข้อมูลการทุจริตของสหกรณ์ในแต่ละแห่ง หากสะสางจุดนี้ ได้ก็จะส่งผลต่อการสืบสวนในชั้นต่อไปได้เร็วขึ้น เนื่องจากพบว่าบางคดีติดค้างอยู่ในชั้นการสอบสวนของตำรวจเป็นเวลานาน 4-5 ปี" รมช.เกษตรฯ กล่าว
ด้าน นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การดำเนินงานของสหกรณ์มีสินทรัพย์ทั้งหมด 3.58 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 64) และเติบโตขึ้นปีละ 200,000 ล้านบาท มีสมาชิกรวม 12 ล้านคน ดังนั้น การป้องกันการทุจริตและความเสียหายจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา มีการทุจริตเกิดขึ้นมาโดยตลอด เนื่องจากมีช่องว่างทางกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ
ดังนั้น การตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ จึงเป็นแนวทางที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งทุกหน่วยงานพร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือกระทรวงเกษตรฯ ในการสะสางปัญหาครั้งนี้
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลข้อบกพร่องทุจริตของสหกรณ์ในภาพรวมทั้งประเทศ มีจำนวน 252 สหกรณ์ ยอดความเสียหายรวม 18,000 ล้านบาท แยกเป็น สหกรณ์ในภาคการเกษตร 148 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 2,092 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น สหกรณ์การเกษตร 140 แห่ง 1,964 ล้านบาท สหกรณ์ประมง 2 แห่ง 3.97 ล้านบาท สหกรณ์นิคม 6 แห่ง 99.91 ล้านบาท และสหกรณ์นอกภาคการเกษตร (ออมทรัพย์ ร้านค้า เครดิตยูเนี่ยน และบริการ) จำนวน 104 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 18,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ จำนวน 40 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 3,300 ล้านบาท และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 37 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 13,333 ล้านบาท
ทั้งนี้ การทุจริตในระบบสหกรณ์ มักจะทุจริตกันในระดับฝ่ายจัดการ และระดับกรรมการบริหารสหกรณ์ ส่วนในระดับสมาชิกนั้นหากในระดับจัดการหรือระดับบริหารมีการควบคุมที่ดี ทำให้สมาชิกเกิดการทุจริตได้น้อย การรวบรวมข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาการทุจริตในระบบสหกรณ์ครั้งนี้ของสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์ออมทรัพย์ มาจากการสั่งการให้ทุกจังหวัดรวบรวมเข้ามา ตัวเลขทุจริตเหล่านี้ จะนำมาใช้เป็นข้อมูลในการแก้ไขตามกรณีแต่ละสหกรณ์
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ประมวลผลโดยแยกประเด็นการทุจริตของสหกรณ์ แบ่งออกได้ 11 ประเด็น ได้แก่ ทุจริตเกี่ยวกับเงินสด 11%, ทุจริตเกี่ยวกับเงินฝากของสหกรณ์ 6%, ทุจริตเกี่ยวกับเงินรับฝากของสมาชิก 9%, ทุจริตเกี่ยวกับเงินกู้ 21%, ทุจริตเกี่ยวกับธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย 13%, ทุจริตเกี่ยวกับธุรกิจรวบรวม 5%, ทุจริตเกี่ยวกับธุรกิจบริการ/ส่งเสริมการเกษตร 1%, เบิกค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ 1%, นำทรัพย์สินของสหกรณ์ไปขายโดยมิชอบ 0%, นำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวแล้วบันทึกบัญชีเป็นเงินยืมทดรอง 2% และทุจริตประเด็นอื่นๆ 11%
นายวิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่ารูปแบบการทุจริตในสหกรณ์ จะแยกเป็นการทุจริตเกี่ยวกับเงินกู้จะมากที่สุด รองลงมาเป็นการทุจริตเกี่ยวกับการจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และทุจริตเกี่ยวกับเงินสด ตามลำดับ ปัจจุบันได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจนได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการทุจริตมาโดยลำดับ ในวันที่ 1 มิ.ย. 65 เหลืออยู่ 18,333 ล้านบาท โดยมีสหกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย 252 แห่ง แต่เมื่อเทียบกับสหกรณ์ในประเทศทั้งหมด 6,000 กว่าแห่งที่ยังดำเนินการปกติ จำนวนสหกรณ์ 252 แห่งที่มีการทุจริต เทียบได้ยังไม่ถึง 1% ของจำนวนสหกรณ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด
ขณะนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ขึ้น ซึ่งศูนย์ดังกล่าว จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการทุจริตในสหกรณ์ ติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์เป็นรายกรณี ใช้เป็นวอร์รูมในการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ ป้องกันความเสียหายที่จะลุกลามและมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสรุปผลรายงานต่อ รมช.เกษตรฯ โดยตรง เพื่อจะเป็นข้อมูลสำหรับนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ทันกับสถานการณ์ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา รมช.เกษตรฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นอีก 3 คณะ ได้แก่
1. คณะทำงานสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีเกิดการทุจริตในสหกรณ์ มีอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงาน ร่วมกับผู้แทนจาก ปปง. ดีเอสไอ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนการทุจริตในสหกรณ์ รวบรวมพยานหลักฐาน และสรุปผลการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
2. คณะทำงานรวบรวมและตรวจสอบ กรณีทุจริตของสหกรณ์ มีนางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานคณะทำงาน ร่วมกับรองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ นักวิชาการตรวจสอบบัญชี จากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่กลุ่มตรวจการสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์มูลเหตุของการเกิดทุจริตในสหกรณ์ ปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การแก้ไขเกิดความล่าช้า รวมถึงพิจารณาเสนอแนวทางการตรวจสอบ พร้อมทั้งวางมาตรการป้องกันการทุจริตในสหกรณ์ และการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อทำข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาทุจริตในสหกรณ์แก่คณะกรรมการฯ เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3. คณะทำงานปรับปรุงระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการตรวจสอบงบการเงิน กรรมการและผู้บริหารสหกรณ์ มีนายสรรเสริญ อัจจุตมานัส ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย อดีตเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานคณะทำงาน ร่วมกับผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์, ผู้แทนจาก ปปง. ดีเอสไอ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารการเงินสหกรณ์ และนิติกรชำนาญการพิเศษ จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำหน้าที่ในการทบทวนระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวกับการตรวจสอบงบการเงิน กรรมการและผู้บริหารสหกรณ์ และรายงานผลต่อประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ พร้อมทั้งเชิญผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการทุจริตสหกรณ์
สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขการทุจริตของสหกรณ์ออมทรัพย์ ขณะนี้ติดตามยึดอายัดทรัพย์ เบื้องต้น 300 ล้านบาท เหลือติดตามตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทน คณะกรรมการสหกรณ์ชุดก่อนหน้านี้ ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติการหน้าที่ชั่วคราวเพิ่มอีก 30 วัน และขณะนี้การดำเนินคดีอยู่ระหว่างที่ สน.นางเลิ้ง ร่วมทำงานกับกรรมการชุดปฏิบัติหน้าที่แทน เพื่อรวบรวมข้อมูลรายบุคคลที่จะนำส่งเรื่องเข้าไปดำเนินคดี
ส่วนกรณีการทุจริตสมาชิกสหกรณ์ที่เกิดก่อนวันที่ 1 ม.ค. 65 ทางสหกรณ์ออมทรัพย์ ได้มีการคืนเงินเข้าระบบบัญชีสมาชิกเรียบร้อยแล้ว สำหรับกรณีสมาชิกที่โดนทุจริตตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 เป็นต้นไป อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ขอความร่วมมือสมาชิกที่ต้องการถอนเงินที่ได้คืน มีเงื่อนไขเบิกถอนได้บัญชีละไม่เกิน 2 ล้านบาท