กอนช. พร้อมรับมือฝนพื้นที่ภาคเหนือ ลดผลกระทบลุ่มน้ำยม-น่านพื้นที่เสี่ยงท่วมซ้ำซาก

ข่าวทั่วไป Tuesday June 28, 2022 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังเปิดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย มาตรการที่ 10 และมาตรการที่ 11 ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 9 จ.พิษณุโลก ว่า จากการวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ฝนปีนี้ กอนช.ได้ประเมินว่าในหลายพื้นที่จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และมีหลายพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย กอนช.จึงได้กำหนด 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 3 พ.ค.65

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช.มีความเป็นห่วงประชาชนจึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตน้ำที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงาน ตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย การดำเนินการขณะเกิดภัย ทั้งการวางแผนและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม การวิเคราะห์คาดการณ์ที่แม่นยำ ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และการช่วยเหลือเยียวยาภายหลังประสบภัย ภายใต้กลไกของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 เชื่อมโยงกับการรับมือสาธารณภัยด้านน้ำตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำยมที่มักเกิดผลกระทบจากอุทกภัยเป็นประจำทุกปี เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่รองรับปริมาณน้ำฝนนั้น ในปี 2565 กอนช.คาดการณ์ปริมาณฝนตกในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.65 มีปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย 706 มิลลิเมตร หรือคิดเป็น 5% ปัจจุบันน้ำต้นทุนในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กมีปริมาณน้ำ 290 ล้าน ลบ.ม.

โดยช่วงฤดูฝนนี้ กอนช.ได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.รวม 485 ตำบล 102 อำเภอ 16 จังหวัด เพื่อให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนล่วงหน้า รวมถึงติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ระหว่างลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านที่ประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี กรมชลประทานได้รับน้ำเข้าระบบส่งน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ตามแผนการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น เพื่อลดผลกระทบผลผลิตเสียหายในช่วงฤดูน้ำหลาก ณ บริเวณท่อระบายน้ำคลองแยงมุม ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นการดำเนินการมาตรการที่ 2 การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก โดยจัดทำแผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ/แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำและเป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ สำหรับบริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาระดับความรุนแรงของน้ำท่วม รวมถึงจัดทำแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน

ขณะเดียวกัน กอนช.ยังได้กำหนดให้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำและเผชิญเหตุ ทั้งในส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ได้ร่วมซักซ้อมการปฏิบัติตามมาตรการ ให้สามารถติดตามประเมิน และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ พร้อมแจ้งเตือน รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ การให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบให้มีความเป็นเอกภาพ ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันในการปฏิบัติงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์การปฏิบัติงานของหน่วยงานเครือข่ายด้วย ผ่านรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัย เป็นการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise : TTX) และจำลองสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลก มีขั้นตอนในการจำลองการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และการใช้กลไกการปฏิบัติตามโครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้า รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือ แผนเผชิญเหตุ ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ฝึกซ้อมไปแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.อุบลราชธานี โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ส่วนอำนวยการ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนสนับสนุน และศูนย์ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ