ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,695 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,690 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 0 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 0 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย
ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยการตรวจ ATK 4,034 ราย
- เสียชีวิต 14 ราย เป็นเพศชาย 7 ราย เพศหญิง 7 ราย สัญชาติไทยทั้งหมด อายุเฉลี่ย 82 ปี อายุระหว่าง 43-95 ปี แยกเป็น ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ราย คิดเป็น 79% อายุน้อยกว่า 60 ปี มีโรคเรื้อรัง 3 ราย คิดเป็น 21%
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 4,522,915 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 1,779 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 30,648 ราย
ขณะที่สถานการณ์การระบาดทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 551,682,658 ราย เสียชีวิต 6,356,166 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา 89,236,449 ราย อันดับ 2 อินเดีย 43,450,262 ราย อันดับ 3 บราซิล 32,283,345 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 30,950,513 ราย และอันดับ 5 เยอรมนี 28,048,190 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 26
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการติดตามรายงานผู้ติดเชื้อ และผู้เข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากการเป็นโรคระบาดระดับทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการตรวจด้วย PCR 2,695 ราย และมีผู้เสียชีวิต 14 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว โดยมี 6 ราย เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนเลย และอีก 6 ราย ได้รับวัคซีนเข็ม 2 แล้วแต่มีระยะเวลาเกิน 3 เดือนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบ 684 ราย สูงขึ้นจากการรายงานเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน และใช้เครื่องช่วยหายใจที่มีอาการรุนแรง 292 ราย
ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยยังเป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากได้มีการปลดล็อกมาตรการสวมหน้ากาก และการเปิดให้บริการในสถานบันเทิงใน 31 จังหวัดในช่วงต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่า จะมีผู้ติดเชื้อหรือผู้เข้ารักษาในระบบพยาบาลเพิ่มขึ้นได้ แต่ ศบค.ชุดเล็กให้ความสำคัญเรื่องอัตราครองเตียง หรือศักยภาพบุคลากรทางแพทย์สามารถรองรับได้
ส่วนการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสนาม หรือเข้ารักษาศูนย์กักกันในชุมชน ปัจจุบันสัดส่วนลดลง และส่วนใหญ่ขอรักษาแบบผู้ป่วยนอก ติดต่อรับยาและไปรักษาตัวเองที่บ้าน
พญ.อภิสมัย กล่าวว่ว ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการติดตามมาตรการถอดหน้ากากอนามัย ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว ยังต้องขอความร่วมมือให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และการผ่อนคลายมาตรการเป็นไปตามความสมัครใจบนพื้นฐานที่ยังมีความเสี่ยง แต่ยอมรับได้ และขอเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคล เว้นระยะห่าง ล้างมือตลอดเวลา ซึ่งมาตรการการถอดหน้ากากให้ประชาชนติดตามการประกาศในพื้นที่ด้วย เพราะสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกันได้
สำหรับองค์กร หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนร้านอาหาร และสถานประกอบการต่างๆ หากต้องการให้พนักงานคงมาตรการสวมหน้ากากอนามัยไว้ก็สามารถทำได้ และขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือด้วย