นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "The Next Chapter of COVID-19 in Thailand" ในการประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บูรณาการเชิงนโยบายด้านการดำเนินงาน เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการ "Thailand Move Forward to Better Living and Working" ว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงต้นปี 2564 ในสถานประกอบกิจการ จ.สมุทรสาคร ทำให้โรงงานหลายแห่งปิดกิจการ สูญเสียมูลค่าถึง 3.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 4% ของมูลค่าตลาด เกิดผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ แรงงาน และสังคม เช่น อัตราการว่างงาน การขาดรายได้ เกิดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น แต่ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่ ทำให้สามารถควบคุมการระบาดของโควิดในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ในวันที่ 1 ก.ค.65 เตรียมความพร้อมสู่การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบนั้น กระทรวงฯ ได้จัดทำแผนและมาตรการการบริหารจัดการ โดยสร้างความสมดุลทั้งสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามเดิม และอยู่ร่วมกับโควิดได้ (Living with COVID) ทำให้แรงงานมีงานทำ ขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุน เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า
แต่สิ่งสิ่งสำคัญ คือ แม้จะผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น แต่ขอความร่วมมือทุกคนยังคงมาตรการ 2 U คือ Universal Prevention เช่น การเว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หากพบมีอาการน่าสงสัยจึงตรวจหาเชื้อ และ Universal Vaccination การรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน เพื่อความปลอดภัยกับการใช้ชีวิตและการทำงาน
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มสถานประกอบกิจการระยะแรกเมื่อต้นปี 2564 เพียง 3 วัน พบผู้ติดเชื้อในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกือบ 700 ราย พบผู้ติดเชื้อสะสม 11,343 ราย โดย 83.3% เป็นผู้ติดเชื้อในสถานประกอบกิจการ ต่อมาประเทศไทยเริ่มพบการระบาดในสถานประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือน มิ.ย.64 ทั่วประเทศพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบกิจการถึง 881 แห่ง ใน 62 จังหวัด และมีพนักงานติดเชื้อถึง 61,919 คน กระทรวงฯ จึงได้มอบหมายกรมควบคุมโรคประยุกต์มาตรการ bubble and seal โมเดลสมุทรสาคร เป็น bubble and seal แบบป้องกันและควบคุมโรค ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กรมอนามัย
"ปัจจุบันแนวโน้มของการติดเชื้อในสถานประกอบกิจการลดลงอย่างชัดเจน แม้จะเกิดการระบาดในระลอกสายพันธุ์โอมิครอนช่วงต้นปี 2565 ก็ไม่พบคลัสเตอร์ใหญ่หรือการระบาดในวงกว้าง และไม่พบการรายงานผู้ติดเชื้อในโรงงานตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2565 โดยรวมแล้วการดำเนินมาตรการ bubble and seal สามารถขยายผลออกไปได้ถึง 2,861 แห่งทั่วประเทศ เกิดต้นแบบสถานประกอบกิจการ จำนวน 87 แห่ง โดยแบ่งเป็นระดับดีเด่น 35 แห่ง และระดับดีมาก 52 แห่ง สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบการดำเนินงานที่ดี นำไปสู่การบูรณาการเครือข่ายเพื่อการดำเนินงาน เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการ อันเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อ Living and Working with COVID-19" นพ.โอภาส กล่าว