พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติชุดใหม่ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 นัดแรก ที่มีผู้แทนจากทุกภาคส่วนร่วมกันนำเสนอการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับลุ่มน้ำ นำไปสู่การมอบหมายสั่งการในระดับนโยบาย เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นระบบเกิดความยั่งยืนและมั่นคง
โดยที่ประชุมได้เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และระบบนิเวศ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวพระราชดำริมาขับเคลื่อน ซึ่งมีมติเห็นชอบแผนงานโครงการสำคัญด้านทรัพยากรน้ำที่หน่วยงานเสนอรวม 4 โครงการ ได้แก่
1) โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จ.น่าน โดยกรมชลประทาน สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 35,558 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 8 ตำบลใน อ.ท่าวังผา ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี (ปี 2567-2573) โดยมอบหมายให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงให้มีการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว
2) สถานีสูบน้ำดิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จ.ปัตตานี โดย อบจ.ปัตตานี เพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ 4 อำเภอ ใน จ.ปัตตานี ประกอบด้วย อ.หนองจิก อ.แม่ลาน อ.โคกโพธิ์ และ อ.เมืองปัตตานี ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (ปี 2567-2569) โดยให้ อบจ.ปัตตานี และสำนักงบประมาณ พิจารณาการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
3) แผนงานพัฒนาระบบระบายน้ำ และจัดการน้ำเสียบริเวณบึงมักกะสัน แนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคูน้ำ ถนนวิภาวดีรังสิต โดยกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและจัดการน้ำเสีย ช่วงจากถนนวิภาวดีรังสิตบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและบึงมักกะสันไปจนถึงสนามบินดอนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมพื้นที่ 81.53 ตารางกิโลเมตร แผนงานดำเนินการ 4 ปี (ปี 2567-2570) โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบปัญหาจราจร พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ควบคุมระบบระบายน้ำ โดยเห็นควรให้มีการนำเสนอผลจากการคาดการณ์และการเกิดสถานการณ์จริง ณ เวลาปัจจุบัน เพื่อแจ้งเตือนประชาชนด้วย
4) แผนพัฒนาและอนุรักษ์คลองพระพิมล จ.นนทบุรี-จ.นครปฐม จำนวน 41 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี 2565-2570) และให้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อทราบเป็นระยะ โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำบูรณาการแผนงานโครงการโดยใช้ระบบ Thai Water Plan (TWP) และติดตามประเมินผลโดยใช้ระบบ Thai Water Assessment (TWA)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ เร่งดำเนินการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ โดยให้เชื่อมโยงและบูรณาการกับแผนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมในปี 2565 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรให้ใช้แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมปี 2565 ไปพลางก่อนตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอ ประกอบด้วย
1) (ร่าง) แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมที่ สทนช.จัดเตรียมไว้เบื้องต้น 2) 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 3) แผนปฏิบัติการของหน่วยงานภายใต้ 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 และ 4) แผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน โดยต้องมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน และแผนเผชิญเหตุ ทั้งในเรื่องการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก มีการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำจัดผักตบชวา และการเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อประสบเหตุให้เร็วที่สุด และต้องมีการวางแผนการเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งด้วย โดยให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการติดตาม และรายงานผลให้ กนช. ทราบ
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความก้าวหน้าการปรับปรุงแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี และเน้นย้ำให้มีการทบทวนแผนแม่บทฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
พร้อมกันนี้ ได้ติดตามความก้าวหน้าการจัดทำผังน้ำตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 และมอบหมายให้ สทนช. เร่งดำเนินการเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบทางน้ำตามผังน้ำ รวมถึงให้ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการองค์ความรู้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการลุ่มน้ำ และเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำให้เกิดความเข้มแข็ง และเชื่อมโยงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพ