นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยหนักอย่างลดลงต่อเนื่อง ไม่พบการระบาดเป็นวงกว้างต่อเนื่อง จำนวนเตียง ยา และเวชภัณฑ์ มีเพียงพอต่อการให้บริการได้ตามมาตรฐาน รัฐบาลจึงมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับการเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่นอย่างปลอดภัย
ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 มิ.ย. 65 ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมในการดำเนินการรองรับการเดินหน้าไปสู่โรคประจำถิ่น โดยประชาชนยังคงได้รับการดูแลรักษาพยาบาลตามสิทธิสุขภาพที่ตนมีอยู่ ทั้งนี้ แม้ว่าโรคโควิด-19 จะเข้าสู่โรคประจำถิ่น แต่ถือว่ายังเป็นโรคหนึ่งโรค กระทรวงสาธารณสุขเอง มีแนวคิด "Health for Wealth" ที่มุ่งคืนระบบบริการการแพทย์แก่ประชาชนทุกคนทุกโรค และประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ สปสช. นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมตามนโยบายรัฐบาล เพื่อรองรับการเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่นเช่นกัน โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวันที่ 4 ก.ค. 65 นี้
อย่างไรก็ตาม มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ตั้งแต่ 1 ก.ค. 65 สปสช. จะลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่ง สปสช. ขอชี้แจงและยืนยันว่าไม่มีการลอยแพผู้ป่วยโควิด-19 แต่อย่างใด ผู้ป่วยยังคงได้รับการรักษาฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม โดยหลังจากนี้หากประชาชนมีอาการเข้าข่ายว่าจะติดโควิด สามารถขอรับชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ที่ร้านขายยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอปเป๋าตัง หรือใช้บัตรประชาชนไปรับ เพื่อตรวจยืนยันได้ทันที หากขึ้น 2 ขีดคือผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19
สำหรับกลุ่มที่มีอาการไม่มาก หรือกลุ่มสีเขียวเข้ารักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก ที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิหรือหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งจะได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเจอแจกจบของกระทรวงสาธารณสุข หรือโทรประสานร้านขายยาตามรายชื่อที่อยู่ในเว็บไซต์ สปสช. เพื่อรับยาตามโครงการเจอแจกจบที่ร้านขายยาได้เช่นกัน
ส่วนกรณีเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) หรือมีอาการรุนแรง จะถูกพิจารณาให้พบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษา หากแพทย์ให้การรักษาแบบใดตามดุลพินิจของแพทย์ สิทธิรักษาพยาบาลก็จะดูแลครอบคลุมหมด
ในส่วนของผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท สปสช. ก็ดูแลค่าใช้จ่ายครอบคลุมทั้งหมดเช่นกัน หากแพทย์มีดุลพินิจให้รักษาแบบ Home Isolation (HI) หรือเป็นผู้ป่วยในต้องแอทมิทนอนโรงพยาบาล ก็อยู่ในความครอบคลุมของสิทธิประโยชน์เช่นกัน โดยหากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามเกณฑ์สีเหลือง-แดง ก็ใช้สิทธิ UCEP Plus เข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของสายด่วน สปสช. 1330 หลังจากวันที่ 1 ก.ค. 65 ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นต้อง โทรแจ้งแล้ว แต่หากมีข้อสงสัยว่าจะต้องทำอย่างไร โทรมาสอบถามขั้นตอนได้ หรือหากมีอาการแย่ลงจะต้องทำอย่างไรต่อ หรือต้องการประสานหาเตียงเข้ารักษาในโรงพยาบาลก็โทรมาได้เช่นกัน