นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อดูแลสุขภาพ ไม่ได้สนับสนุนเรื่องของการสูบ การเสพ หรือการสันทนาการ โดยมีการวางมาตรการ 5 ด้านเพื่อสนับสนุนการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย ดังนี้
1. การส่งเสริมการใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ ให้ความรู้ประชาชนทั้งเรื่องประโยชน์ เรื่องโทษ และการใช้อย่างเหมาะสมต่อสุขภาพ โดยจัดทำคู่มือการใช้กัญชาอย่างเข้าใจ และมีแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย
2. การควบคุมด้วยกฎหมาย ขณะนี้มีกฎหมายควบคุมการเสพที่สาธารณะ เรื่องกลิ่นและควันเป็นเหตุรำคาญ มีการออกประกาศไม่ให้ใช้ในผู้ที่ต่ำกว่าอายุ 20 ปี หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร และยังมีตัวแทนร่วมเป็นกรรมาธิการปรับแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ. ... ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้นโยบายชัดเจนว่าต้องสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์ ไม่สนับสนุนการเสพและสันทนาการ จึงต้องขับเคลื่อนให้มีการควบคุมป้องกันในกฎหมายกัญชงกัญชา
3. การเฝ้าระวังป้องกันการใช้ในทางที่ผิด โดยวางระบบรายงานเฝ้าระวังผลการใช้กัญชา ทั้งพิษจากกัญชาหรือปัญหาทางด้านจิตประสาท ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่ายังไม่ได้พบมากขึ้น ส่วนระบบรายงานการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่มีอยู่เดิม มีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาทางการแพทย์เพียง 1% และเป็นกลุ่มที่อาการเล็กน้อย เนื่องจากเป็นการใช้อย่างควบคุม
4. การวางระบบการดูแลรักษาพยาบาลและบำบัดรักษา ขณะนี้มีกลุ่มงานสุขภาพจิต และยาเสพติดทุกจังหวัดที่เปิดหอผู้ป่วยรองรับการดูแล
5. การกำกับติดตามผลการขับเคลื่อนตามมาตรการที่กำหนด
"สำหรับกรณีที่ไม่ได้ใช้ผ่านการควบคุม หรือไม่เป็นไปตามนโยบาย วัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเรามีกฎหมายป้องปรามไว้แล้ว หากมีการฝ่าฝืน เช่น เสพ มวนขาย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนเรื่องของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะติดตามตรวจสอบหลังการอนุญาตให้มีการใส่สารสกัดกัญชาตามกฎหมายกำหนด โดยในช่วงรอยต่อนี้จะมีการตรวจติดตามอย่างเข้มงวด" นพ.เกียรติภูมิ กล่าว