พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการเข้าพบของคณะนักธุรกิจฝรั่งเศส นำโดย นายฟรองซัวส์ กอร์แบง รองประธานสภานายจ้างฝรั่งเศสในต่างประเทศ (Mouvement des Entreprises de France: MEDEF : MEDEF International) เข้าเยี่ยมคารวะ ว่า วันนี้ถือเป็นวาระสำคัญที่มีการพบปะหารือกับนายฟรองซัวส์ กอร์แบง รองประธานสภานายจ้างฝรั่งเศสในต่างประเทศ ซึ่งมีสมาชิกหลายพันบริษัทและเป็นผู้แทนพิเศษด้านการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคของรัฐมนตรีว่าการเกี่ยวกับยุโรปและการต่างประเทศ โดยได้หารือในหลายมิติด้วยกัน โดยเฉพาะด้านความร่วมมือในระยะต่อไป และทบทวนในความร่วมมือในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ได้มีข้อตกลงต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งต่างฝ่ายต่างต้องปรับเข้าหากัน และเป็นที่น่ายินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญในการเยี่ยมเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเรื่องการค้าการลงทุน ซึ่งจะพัฒนาความยั่งยืนไปสู่อนาคต โดยได้หารือในหลายมิติด้วยกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจ รวมถึงความมั่นคงทางอาหาร และพลังงาน ซึ่งรัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ และอยู่ระหว่างจัดทำมาตรการด้านเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อภาคธุรกิจ และประชาชน พร้อมให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนของทรัพยากร และความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้านการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันอีกมาก จึงหวังว่าจะใช้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่ ทั้งกลไกภาครัฐและภาคเอกชนให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน และไทยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนฝรั่งเศส เพื่อเดินหน้าสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการหารือว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่คณะเดินทางมาเยือน หลังจากที่ว่างเว้นเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 พร้อมย้ำว่า การเยือนของคณะถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากเป็นกิจกรรมหลักที่จัดขึ้นภายหลังการลงนามในแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 2022-2024) ที่จะนำไปสู่การยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศภายในปี 67
โดยนายกรัฐมนตรี ชื่นชมความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างภาคเอกชนไทยและฝรั่งเศส โดยเฉพาะสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย และสภานายจ้างฝรั่งเศสในต่างประเทศ เชื่อมั่นว่า คณะฯ เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปฏิรูป และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา และมั่นใจว่ารัฐบาลพร้อมพัฒนาความร่วมมือ จะได้เห็นศักยภาพและโอกาสความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอีกมากมาย โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในโครงการ EEC
ด้านนายฟรองซัวส์ ระบุว่า คณะนักธุรกิจที่ร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ มาจากหลากหลายสาขา เพราะตระหนักดีถึงศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยที่เห็นช่องทางความร่วมมือได้มาก และบริษัทฝรั่งเศสมีความสนใจที่จะแสวงหาการลงทุนเพิ่มเติม เนื่องจาก 1. ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น มีความไว้เนื้อเชื่อใจ และมีความใกล้ชิดมากว่า 30 ปี 2. ไทยมีที่ตั้งที่มีมีที่ตั้งซึ่งมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มีขีดความสามารถ เป็นตลาดที่น่าสนใจ และน่าดึงดูดสำหรับนักลงทุน มีการปฏิรูป ปรับปรุงนโยบายที่ทันสมัยเอื้อต่อการลงทุน และ 3. ภาคเอกชนฝรั่งเศสมั่นใจในโอกาสเพื่อสร้างความร่วมมือ โดยมองว่าไทยกำลังเติบโต และมีพัฒนาการเชิงบวกในหลายๆ ด้าน อาทิ สาธารณสุข การเกษตร เป็นต้น ทั้งนี้ ฝรั่งเศสพร้อมให้การสนับสนุนไทย โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และยินดีสานต่อความร่วมมืออย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการผลิต พัฒนา และเสริมสร้างบุคลากรของไทย
ขณะที่ตัวแทนภาคเอกชนฝรั่งเศส กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับความร่วมมือของทั้งสองประเทศ โดยภาคเอกชนฝรั่งเศสชื่นชมแนวความคิด และนโยบายดำเนินการสู่เป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยันว่าภาคเอกชนฝรั่งเศสมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด และเชื่อว่าไทยมีศักยภาพในด้านพลังงานทดแทน และมีพัฒนาการในด้านนี้เด่นชัดเป็นอย่างมาก
อนึ่ง คณะนักธุรกิจฝรั่งเศสที่เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นระดับผู้บริหาร จาก 20 บริษัทชั้นนำในสาขาต่าง ๆ อาทิ วิศวกรรมก่อสร้างและวิศวกรรมยานยนต์ ระบบและเทคโนโลยีด้านการคมนามคมขนส่งทางบก/ทางทะเล อากาศยานและอวกาศยาน การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด/พลังงานทดแทน การบริหารจัดการน้ำและของเสีย การบริหารจัดการพลังงาน เป็นต้น