ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลดัชนีความสุขมวลรวมของคนไทยในช่วง 3 เดือนแรกหลังการเลือกตั้ง พบความสุขของประชาชนในเดือนมีนาคม 51 ลดลงมาอยู่ที่ 6.39 จาก 6.90 ในเดือนตุลาคม 50 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
โดยเมื่อพิจารณาแนวโน้มความสุขคนไทยตั้งแต่หลังการปฏิรูปการปกครองเดือนกันยายน 49 เป็นต้นมา พบว่าเดือนตุลาคม 49 ความสุขคนไทยอยู่ที่ 4.86 เดือนตุลาคม 50 อยู่ที่ 6.90 และเดือนมีนาคม 51 อยู่ที่ 6.39
ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าเรื่องที่ประชาชนมีความสุขสูงสุด คือ ปัจจัยด้านความจงรักภักดีมีค่าความสุขสูงสุดถึง 9.22 ส่วนด้านสถานการณ์ทางการเมืองนั้นการที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อนายสมัคร สุนทรเวช ได้ความสุข 5.14 สถานการณ์การเมืองได้ 4.63 สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันได้ 4.42 ในขณะที่สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เพียง 2.37
"เมื่อค่าความสุขล่าสุดของคนไทยอยู่ที่ 6.39 ซึ่งถือได้ว่ายังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี โดยมีปัจจัยด้านความจงรักภักดีมีค่าความสุขสูงสุดถึง 9.22 ในขณะที่สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เพียง 2.37" นายนพดล กรรณิกา หัวหน้าศูนย์วิจัยความสุขชุมชน ระบุ
สำหรับการสำรวจระดับความสุขของประชาชนหากจะมีการยุบพรรคการเมืองบางพรรค พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 69.7% เห็นว่าไม่ได้ทำให้ระดับความสุขเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่ประชาชน 19.4% เห็นว่าระดับความสุขลดลง เพราะไม่อยากเลือกตั้งใหม่ หรือพรรคที่อาจถูกยุบเป็นพรรคที่ชอบ และเห็นว่าถ้ายุบพรรคบ้านเมืองจะวุ่นวาย เป็นต้น ในขณะที่อีก 10.9% เห็นว่าระดับความสุขจะเพิ่มขึ้น เพราะต้องการให้เป็นไปตามกฎกติกา ไม่ชอบพรรคที่ถูกยุบ และปัญหาคอรัปชั่นจะได้หมดไป
การสำรวจดังกล่าว มาจากกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ภูมิลำเนาใน 21 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 4,010 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-22 มีนาคม 51
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์ โทร.0-2253-5050 อีเมล์: kasamarporn@infoquest.co.th--